วันนี้ (15 มิ.ย.2566) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า Dyslexia คือความบกพร่องในการอ่านและการเขียน ถือเป็นความผิดปกติด้านการเรียนรู้ ประเภทหนึ่ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะ Dyslexia อย่างชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าวัย ซึ่งส่งผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาและการอ่านหนังสือ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะ Dyslexia เช่น ในครอบ ครัวมีภาวะ Dyslexia หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้อื่นๆ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ การได้รับยาสารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
รวมถึงการเกิดภาวะติดเชื้อของมารดาที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ทำให้ผู้ที่เป็น มีปัญหาในการอ่าน การเขียน แม้แต่การแปลภาษาหรือสัญลักษณ์ง่ายๆ ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป หรือในบางรายอาจไม่พบปัจจัยเสี่ยง โรคนี้พบได้ถึง 10% ของประชากร
ชี้อาการพูดช้า-สื่อสาร-วอกแวกไม่นิ่ง
นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว อาการของ Dyslexia สังเกตได้ยากเมื่อเด็กยังไม่ได้เข้าเรียน แต่จะเห็นความผิดปกติชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน ผู้ที่มีภาวะนี้จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย เด็กวัยอนุบาลบางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้คือ พูดช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
รวมทั้งมีปัญหาด้านการพูดและความเข้าใจภาษา พัฒนาการด้านอื่นๆ สมวัย บางคนมีพฤติกรรมไม่นิ่ง วอกแวกง่ายร่วมด้วย เมื่อเด็กขึ้นประถมจะเริ่มมีอาการของภาวะนี้ให้เห็นชัดเจนขึ้น มีปัญหาเกี่ยวกับการอ่าน สะกดและเขียนหนังสือ
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่าเด็ก Dyslexia อาจจะอ่านสะกดไม่คล่อง แต่พวกเขาก็เป็นนักคิดที่ว่องไว โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านการสายตาและเชื่อมโยงเชิงมิติสัมพันธ์ เรียนรู้ผ่านการฟังและถามตอบโดยตรงจะเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้
โดยควรมีแผนการเรียนเฉพาะบุคคลให้เหมาะกับความสามารถในเด็กแต่ละคน หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เด็กก็จะสามารถไปโรงเรียนร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความสามารถในการคิดเชิงมิติสัมพันธ์ของพวกเขาจะกลายเป็นจุดแข็ง และหล่อหลอมให้เด็ก Dyslexia กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้ในอนาคต