จากพัก-เล่น-แข่ง-สู่ประเพณีและความเชื่อ
"ประเพณีวิ่งควาย" เป็นประเพณีคู่บ้านคู่เมืองของ จ.ชลบุรี มีมานานกว่าร้อยปี ทุกปีก่อนออกพรรษา 1 วัน (วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11) ชาวไร่ชาวสวนจะเทียมสินค้าเกษตรใส่เกวียนใช้ควายลากจูงมาที่ตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนพืชผล ขายสินค้า เตรียมหาวัตถุดิบทำ "ข้าวต้มหาง" เพื่อใส่บาตรที่วัด ทำบุญเลี้ยงพระในวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ และวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็นทำบุญใหญ่ของชาวพุทธด้วย
ล้างเนื้อตัวทำความสะอาดหลังลุยศึกมา
"ควาย" จะถูกนำไปพักรอที่วัด เมื่อตักบาตร ขายของกันเสร็จ ก็เป็นเวลาพบปะสังสรรค์กัน ชาวบ้านจะจูงควายวิ่งเล่นรอบตลาดเกิดเป็นความสนุกสนานในพื้นที่ จนพัฒนาเป็นการแข่งขันและความเชื่อสืบต่อกันมา ที่ว่าถ้านำควายมาวิ่ง ควายจะมีสุภาพดี ไม่เป็นโรคระบาด
หากปีใดไม่มีงานประเพณีวิ่งควาย ปีนั้นควายจะเป็นโรคระบาด เพราะวิญญาณบรรพชนห่วงว่าประเพณีอันดีงามนี้จะสูญสลาย จึงดลบันดาลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้น
ต่อมาก็เพิ่มการตกแต่งควายให้สวยงาม ถือเป็นการทำขวัญควายไปในตัว เช่น ทำถุงสวมเขาให้ควาย ตกแต่งเชือกจูงควาย ปฏักเฆี่ยนควาย ทำฉบับหน้าควาย ถือเป็นการผ่อนควายความเครียดให้ควายหลังไถนามาทั้งปี และเพิ่มการตกแต่งคนขี่ควาย ให้สวยงามจนเป็นประเพณีวิ่งควายที่ต้องแต่งตัวทั้งคนและควาย แม้เวลาเปลี่ยนไป เกวียนที่ใช้บรรทุกสินค้าเกษตรหายไป แต่เมื่อถึงเทศกาล ชาวบ้านก็ยังนำควายมาวิ่งแข่งกัน
นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออีกเรื่องของชาวบ้าน หากบ้านใดมีคนป่วย เจ้าของควายจะบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแก้บนด้วยการวิ่งควาย จนเป็นสืบต่อเป็นประเพณีมาอย่างยาวนาน จนเป็นของดีอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดชลบุรี
ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย
มีหลักฐานปรากฏในพระราชกิจรายวัน กรมราชเลขาธิการว่า สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสจ.ชลบุรี โดยพระยาวิเศษฤาไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้จัดงานวิ่งควายถวายทอดพระเนตร ณ หน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 7ธ.ค.2455 จึงเป็นหลักฐานว่าประเพณีวิ่งควายมีมาอย่างยาวนาน เป็นเอกลักษณ์ของเมืองชลบุรี
อ่าน : ชาวชลบุรีจัดแข่ง "วิ่งควาย" สืบทอดประเพณีก่อนออกพรรษา
งานใหญ่ประจำจังหวัด
เทศบาลเมืองชลบุรียังคงสืบสานประเพณีวิ่งควายไว้ ล่าสุดจัดเมื่อวันที่ 1-9 ต.ค.2565 เป็นครั้งที่ 151 เป็นงานมหกรรมอย่างยิ่งใหญ่ประจำจังหวัด ที่ไม่แตกต่างจากงานประจำปีที่จัดช่วงวันสงกรานต์ มีทั้งการออกร้านของดีประจำจังหวัด เครื่องเล่นต่างๆ การละเล่นพื้นบ้าน เวทีการแสดงจากนักร้องศิลปิน และการวิ่งควาย
ตัวแทนหมู่บ้าน
ชาวบ้านลงแข่งขัน
การแข่งขันวิ่งควายเริ่มในช่วงบ่าย โดยควายที่เข้าร่วมแข่งขันนั้นจะต้องมีเจ้าของขึ้นขี่เป็นผู้ควบคุมอยู่บนหลังควาย กติกาคือ ควายตัวใดถึงเส้นชัยก่อนก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ แบ่งออกเป็น 5 รุ่น ตามลักษณะฟันน้ำนมและฟันแท้ของควาย
- รุ่นซูเปอร์จิ๋ว
- รุ่นจิ๋วพิเศษ
- รุ่นจิ๋วเล็ก
- รุ่นจิ๋วใหญ่
- รุ่นใหญ่
ควายไม่ใช่สัตว์ที่ถูกฝึกมาเพื่อวิ่งแข่งขัน
ดังนั้นความสนุกของงานจะอยู่ที่การเชียร์ของผู้ชมที่ต้องส่งแรงใจช่วยให้ควายวิ่งเข้าเส้นชัยให้ได้ และก็มีหลายครั้งที่เจ้าของควายจะทรงตัวไม่อยู่จนตกหลังควาย สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชม นอกจากการแข่งวิ่งควายแล้ว ยังมีการประกวดควายสุขภาพดี ประกวดการตกแต่งควาย ทั้งประเภทสวยงาม และประเภทขบขันอีกด้วย
ชาวบ้านร่วมลุ้นให้กำลังใจ
"วิ่งควาย" มรดกภูมิปัญญาของชาติ
ปี 2555 ประเพณีวิ่งควายถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2555 ประเภทกีฬาภูมิปัญญาไทย ซึ่งมีรูปแบบเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จนเป็นประเพณีท้องถิ่นคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชลบุรี งานประเพณีวิ่งควายในปัจจุบัน ถือเป็นวันนัดพบของเกษตรกรซึ่งได้รับคำยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
สู้เขาเจ้าควายเพื่อนยาก
วิ่งควายชั่วคราวที่สำนักบก
สำหรับการแข่งขันวิ่งควายที่จัดขึ้นที่สนามแข่งขันประเพณีวิ่งควายชั่วคราว ข้าง อบต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นการแข่งขันเรียกน้ำย่อยก่อนจะถึงวันแข่งวิ่งควายจริงช่วงก่อนออกพรรษา ในงานดังกล่าวเป็น การแข่งขันวิ่งควายคราดนาและการแข่งขันลากทางมะพร้าว โดยมีคนลากและคนนั่งต้องนั่งบนทางมะพร้าว มีนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธี วัตถุประสงค์ด้วยกัน 3 ประการ
- สืบสาน-ส่งเสริมวัฒนธรรมงานประเพณีวิ่งควายของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบทอดต่อไป
- ให้พี่น้องเกษตรกร ได้พบปะสังสรรค์ เกิดความสนุกสนานรื่นเริง และสร้างความสามัคคีในชุมชน
- ส่งเสริม-อนุรักษ์ควายให้อยู่คู่กับท้องถิ่น และส่งเสริม-อนุรักษ์กีฬาพื้นบ้านให้คงอยู่ตลอดไป
การถ่ายภาพสปีดชัตเตอร์ต่ำ
อ่าน : ประเพณีวิ่งควาย จ.ชลบุรี คึกคัก
ที่มา : เทศบาลบ้านบึง จ.ชลบุรี, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี