การเปิดให้ผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการหารือเพียงฝ่ายเดียว อาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาได้อย่างจริงจัง
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เตรียมแผนรองรับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา หลังกองทัพเมียนมาปะทะกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มกะเหรี่ยงคะยา การปะทะกันเกิดขึ้นตามแนวชายแดนตรงข้ามช่องทางเสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง และบริเวณช่องทางห้วยต้นนุ่น ต.แม่เงา อ.ขุนยวม
พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบ้านเสาหิน หมู่ที่ 1 ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เป็น 1 ใน 2 พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวสำหรับรองรับผู้หนีภัย ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า มีผู้หนีภัยการสู้รบอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 2 แห่ง จำนวน 3,888 คน ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการ การจัดการสิ่งของบริจาคและการรับมือปัญหาสุขภาวะ
คลื่นผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาในพื้นที่บริเวณแนวพรมแดน เกิดขึ้นในขณะที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดวงสนทนาอย่างไม่เป็นทางการวันนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศให้สัมภาษณ์ไทยบีพีเอสและย้ำถึงความสำคัญในการเปิดเวทีให้พูดคุยเพื่อร่วมกันหาทางออก
วงสนทนาไม่เป็นทางการครั้งนี้ มีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนระดับสูงจากเมียนมา กัมพูชา ลาว บรูไน เวียดนาม จีนและอินเดีย เข้าร่วม ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ปฏิเสธเข้าร่วมตามคำเชิญ เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาล้มเหลวในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อและที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ที่ ลาบวน บาโจ ยังไม่ได้มีฉันทามติให้ผู้แทนรัฐบาลทหารเข้ามามีส่วนร่วมในวงการประชุมอีกครั้ง
ไทยย้ำความสำคัญในการเปิดพื้นที่หารือ
ขณะที่ไทยย้ำจุดยืนส่งเสริมความพยายามแก้ปัญหาของอาเซียน แม้ว่าการหารือในวันนี้ จะไม่ใช่การประชุมภายใต้กรอบอาเซียนก็ตามไทยจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเมียนมาหลายครั้ง นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ความมุ่งมั่นของไทยเห็นได้จากการจัดวงหารือเมื่อเดือนธันวาคม วูนนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาในขณะนั้น เข้าร่วมด้วย
1 ในกลไกของไทยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา คือการหารือผ่านกลไกการขับเคลื่อนอย่างไม่เป็นทางการ หรือ "Track 1.5" กลไกนี้เปิดพื้นที่ให้ผู้แทนแวดวงวิชาการและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
วงหารือ Track 1.5 จัดขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน วงหารือครั้งแรกจัดที่กรุงเทพฯ และวงหารือครั้งที่ 2 จัดที่กรุงนิวเดลี โดยที่ผู้แทนจากอินโดนีเซียประธานอาเซียน ร่วมการหารือครั้งที่ 2 กับผู้แทนเมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซียและบังกลาเทศ
แม้ว่ากลไก Track 1.5 จะช่วยสร้างความหวังในการแก้ปัญหามากขึ้น แต่การหารือทั้ง 2 ครั้ง ยังไม่มีผู้แทนจากกลุ่มต่อต้านเข้าร่วม การเชิญผู้แทนจากรัฐบาลทหารให้เข้าร่วมการหารือ Track 1.5 จึงทำให้กลไกนี้ถูกมองว่าให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารมากเกินไป
ทูตพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ และ EU ประเมินแนวทางของไทยในการจัดวงหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะการใช้กฎ Chatham House Rules หรือการไม่เปิดเผยรายละเอียดสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการหารือกัน
การประสานงานระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเมียนมายังสำคัญต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและปกป้องผลประโยชน์ของชาติต่อไป
วิเคราะห์ : พงศธัช สุขพงษ์
อ่านข่าวอื่นๆ :
ไทยส่ง "ช้างไทย" ทูตสันถวไมตรี 20 เชือก
ทส.ติด CCTV ชมเรียลไทม์ชีวิต "พลายศักดิ์สุรินทร์"
จับกระแสการเมือง : วันที่ 19 มิ.ย.2566 "กกต. รับรอง 500 ส.ส."