กรณีมีข่าวการทดลองนำ โมเลกุลมณีแดง (RED-GEMs) จากนักวิจัยไปใช้กับผู้ป่วยแห่งหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชน
วันนี้ (22 มิ.ย.2566) คณะเพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาขาดไทย ชี้แจงข้อมูลเรื่องโมเลกุลมณีแดง (RED-GEMs) โดยระบุว่า โมเลกุลมณีแดง (RED-GEMs) เป็นสารที่มีการพัฒนาและนำมาศึกษาโดยคณะผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยได้มีการนำมาทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง และมีข้อมูลที่แสดงว่าอาจสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าที่ได้จากการวัด ซึ่งอาจเป็นตัวแทนของอายุเซลล์ หรือความชราได้
ทางผู้วิจัย กำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอขอให้คณะกรรมการจริยธรรมงานวิจัยในมนุษย์พิจารณา เพื่อนำสาร RED-GEMs มาศึกษาในมนุษย์
แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้สารนี้ในการศึกษาในมนุษย์ เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงขอแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มการศึกษาวิจัย สำหรับการใช้สาร RED-GEMs ในมนุษย์ จนกว่าจะได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และไม่สนับสนุนหรืออนุญาตให้มีการใช้สาร RED-GEMs ในมนุษย์หรือผู้ป่วย ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ การมีข้อมูลว่ามีผู้ป่วยได้รับ RED-GEMs ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ขอยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด
ไทย และจะมีการดำเนินการหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม และเกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยสูงสุดต่อไป
จึงขอแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อ่านข่าวเพิ่ม รู้จัก “มณีแดง” ความหวังยาย้อนวัยฝีมือนักวิจัยไทย
ยาย้อนวัยสู่การรักษาโรค
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 5 พ.ย.2564 นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัยมณีแดง (RED-GEMs) ได้กล่าวถึงสรรพคุณของมณีแดง ในงานเสวนา "มณีแดง ยาย้อนวัยถูกค้นพบได้อย่างไร"
โดยระบุว่า ได้รายงานผลต่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาวิทยา ศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในขณะนั้นหลังการค้นพบว่า ผลการทดลองกับหนูในห้องทดลองว่าได้ผลปลี่ยนเซลล์ชราให้กลับมาเป็นเซลล์ปกติ หลังประสบความสำเร็จในหนูทดลอง เตรียมต่อยอดงานวิจัยอีก 2 ปีเพื่อเตรียมทดสอบในคน
ทั้งนี้ผู้วิจัย ระบุว่า คุณสมบัติของสารชีวโมเลกุลมณีแดง เป็นการย้อนวัยที่ตัวดีเอ็นเอ เป็นต้นน้ำของสิ่งมีชีวิต การย้อนวัยทำให้จีโนมในร่างกายเสถียร ไม่ถูกทำลายได้ง่าย ดังนั้นมณีแดง จึงเป็นความหวังของมนุษยชาติ และต่อยอดงานวิจัยเพื่อรักษาโรคอื่นๆ
นพ.อภิวัฒน์ ระบุว่า จากการที่ได้ค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราสู่การพัฒนา โมเลกุลมณีแดง โดยทั่วไปในดีเอ็นเอจะมีรอยแยก (youth-DNA-gap) อยู่บริเวณที่มีดีเอ็นเอแมด ทิเลชัน (DNA methylation) จึงเป็นที่มาของโมเลกุลมณีแดง ที่มีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอ และป้องกันความแก่ชราในดีเอ็นเอเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยกดีเอ็นเอจะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติ และถูกทำลายได้ง่าย
เราจึงพบรอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์ที่แก่ชราแล้วเพิ่มขึ้น ซึ่งรอยโรคดีเอ็นเอนี้จะส่งสัญญาณให้เซลล์หยุดการแบ่งตัวตามปกติและเข้าสู่ความแก่ชรา รวมถึงอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้ โมเลกุลมณีแดงคือยีนที่มีหน้าที่เป็นกรรไกรเพื่อสร้างรอยแยกดีเอ็นเอ เซลล์ที่ได้รับมณีแดงจะมีดีเอ็นเอที่แข็งแรงขึ้น และทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงแล้วกลับมาดีขึ้น