วันนี้ (24 มิ.ย.2566) ที่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ตามนโยบายผู้ว่าฯ สัญจร โดยมี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเหตุถังดับเพลิงระเบิดวานนี้ (23 มิ.ย.) ว่า ปัจจุบัน กทม.ได้เรียกเก็บถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในสถานีดับเพลิงทั้งหมด มีนโยบายหยุดปฏิบัติการซ้อมดับเพลิงแก่หน่วยงานต่างๆ จนกว่าจะตรวจความปลอดภัยอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องครบถ้วน ยืนยันว่า ถังดับเพลิงที่ระเบิดวานนี้ เป็นถังคาร์บอนไดออกไซด์ ต่างจากถังที่ใช้ในหน่วยราชการและชุมชน
อ่าน : ศาลให้ประกันตัว 3 จนท.สาธิต ปมถังดับเพลิงระเบิด
นอกจากนี้ สั่งการให้ทุกสถานีดับเพลิง สำนักงานเขต ประธานชุมชน ร่วมกันตรวจถังดับเพลิงเคมีแห้งในชุมชนทั้งหมด เพื่อระบุรายละเอียดอายุการใช้งาน จำแนกถังเก่าที่มีแนวโน้มความเสี่ยงออกจากพื้นที่ พร้อมบำรุงรักษาถังใหม่ที่ยังใช้งานได้ โดยเริ่มการตรวจสัปดาห์หน้า รวมถึงออกข้อปฏิบัติขั้นตอนสำหรับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบสภาพใช้งานของถัง เช่น ตรวจสอบมาตรวัดความดันภายในถัง สภาพสายดับเพลิง สภาพตัวถัง เป็นต้น หากพบชำรุดเสียหายสามารถแจ้งสำนักงานเขตเพื่อเปลี่ยนได้ สำหรับภาคประชาชน กทม.มีแผนเพิ่มช่องทางแจ้งถังดับเพลิงชำรุดผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ต่อไป
ส่วนการซ้อมดับเพลิงในอนาคต กำหนดให้ใช้ "ถังเปล่า" ไม่มีการฉีดพ่น เสริมความรู้ผ่านสื่อวิดีโอ สนับสนุน "ชุดป้องกัน" ระหว่างซ้อม กรณีโรงเรียน นักเรียนสามารถติดตามการซ้อมได้บนชั้น 2-3 ของอาคาร เพื่อความปลอดภัย จากนี้ไป การปรับปรุงมาตรฐานปฏิบัติการทั้งหมด จะใช้มาตรฐานเดียวกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายชัชชาติ กล่าวว่า ได้สั่งห้ามนำถังดับเพลิงนอกหน่วยงานมาใช้ เพราะแต่ละเขตมีถังสำหรับฝึกซ้อมโดยเฉพาะ และให้ตรวจสอบความทนทานต่อแรงดันทุก 5 ปี รวมถึงให้คณะกรรมการชุมชนและอาสาสมัครเทคโนโลยีร่วมกันเก็บข้อมูลถังดับเพลิงในชุมชน เช่น วันเวลาตรวจสอบครั้งล่าสุด อายุใช้งาน พร้อมระบุตำแหน่งที่ตั้งของถังผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบแผนที่ เพื่อการตรวจสอบง่ายขึ้น
อ่าน : ครอบครัวรับศพ "น้องเบนซ์" สวดพระอภิธรรม วัดแคนางเลิ้ง
นอกจากนี้ รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ยอมรับว่ามีถังดับเพลิงนอกเหนือการจัดซื้อตามงบประมาณกรุงเทพมหานครจริง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการฝึกซ้อม แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยกำหนด
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดี อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวน และรอรายละเอียดจากฝ่ายพิสูจน์หลักฐานเพื่อยืนยันสาเหตุระเบิดและข้อเท็จจริงต่อไป จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่า ไม่เคยเกิดเหตุระเบิดลักษณะนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยา 29,700 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บรายละ 4,000 บาท โดย กทม. รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด
สรุปมาตรการความปลอดภัยในการใช้ถังดับเพลิง
เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โพสต์สรุปมาตรการความปลอดภัยสำหรับการใช้ถังดับเพลิง ดังนี้
- หยุดการซ้อมดับเพลิงทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าอุปกรณ์การซ้อมทั้งหมดจะได้รับการตรวจสอบ
- เร่งตรวจสอบถังแดงทุกจุด
- ให้สถานีดับเพลิงทุกสถานีและสำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมกับประธานชุมชน ลงตรวจพื้นที่ที่มีถังแดง ซึ่งเป็นถังเคมีแห้งที่อยู่ในชุมชนทั้งหมด
⁃ เก็บถังเก่าที่ใช้ไม่ได้แล้ว หรืออยู่ในสภาพที่ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ จะทำการเก็บ
⁃ ส่วนถังที่มีมาตรฐานที่ใช้ได้จะตรวจสอบเติมสารเคมีใหม่เพื่อให้พร้อมใช้
⁃ นำเทคโนโลยีมาใช้จัดทำบัญชีถังทั้งหมด แสดงจุดติดตั้งใน GPS เพื่อสามารถตรวจสอบอายุถังและระยะตรวจสอบล่าสุด - กำหนดขั้นตอนในการตรวจสอบ (visual inspection)
⁃ สามารถตรวจสอบได้ในเบื้องต้น โดยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ อาทิ การดูเกวัดค่าความดัน สลัก ความกรอบของสายดับเพลิง ขนาด ความบวมของถัง สนิมที่ถัง เป็นต้น ถ้าพบสามารถแจ้งย้ายถังกับสำนักงานเขตพื้นที่
⁃ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความกังวลใจ พบถังดับเพลิงที่มีลักษณะไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งผ่านทาง Traffy Fondue - รื้อระบบการฝึกซ้อมใหม่
⁃ ให้เป็นการซ้อมแห้ง ที่ไม่มีการฉีดพ่น เป็นการใช้ถังเปล่าที่ไม่มีการอัดแรงดันใดๆ โดยเฉพาะในโรงเรียน
⁃ ใช้เกณฑ์การเว้นระยะ
⁃ ไม่อนุญาตให้มีการซ้อมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม
⁃ การใช้อุปกรณ์ในการซ้อมต้องได้มาตรฐานและผ่านการตรวจสอบทุกครั้ง - อุปกรณ์ที่ใช้ในการซ้อมดับเพลิงที่เกิดเหตุเมื่อวานนี้เป็นแบบคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะอยู่ที่สถานีดับเพลิง ไม่ใช่ถังดับเพลิงแบบเดียวกับที่ใช้ในชุมชนและติดตั้งในสถานที่ราชการต่างๆ ขณะนี้สั่งเก็บถังทั้งหมดเพื่อตรวจสอบ และจะไม่มีการซ้อมจนกว่าจะมั่นใจในความปลอดภัย
อ่าน : รร.ราชวินิตมัธยม แจ้งหยุดเรียน 2 วัน หลังเหตุถังดับเพลิงระเบิด