วันนี้ (26 มิ.ย.2566) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำและการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เตรียมรับมือผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปี 2567
คาดการณ์ว่า สถานการณ์น้ำปี 2566 และ 2567 จะคล้ายกับสถานการณ์น้ำเมื่อปี 2562 ที่เกิดเอลนีโญต่อเนื่องจนถึงปี 2563 จึงจะใช้ข้อมูลในเป็นแนวทางประเมินปริมาณน้ำต้นทุนของ 1 พ.ย.2567 สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี
การจัดการน้ำจะมุ่งกักเก็บน้ำต้นทุนส่งต่อไปถึง 2567 ให้ได้มากที่สุด ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง หากฝนน้อยต่อเนื่องถึงปีหน้า คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2566 น้ำต้นทุนช่วงพ.ย.นี้ จะมีปริมาณเพียง 60-70%
ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำสำรองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ข้อมูล สทนช. ระบุพื้นที่ประสบภัยแล้ง ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ซึ่งรัฐบาลได้มีการติดตามสถานการณ์ และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ขณะที่กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวมกัน 10,636 ล้านลบ.ม. หรือ 43% ดังนี้
- เขื่อนภูมิพล 6,603 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 2,803 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 29%
- เขื่อนสิริกิติ์ 3,735 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 39% ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 885 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 13%
- เขื่อนแควน้อย 172 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 18% ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 129 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 14%
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 126 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 13% ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 123 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 13%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง