ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดตัว “รถฟอกไตเคลื่อนที่” คันแรกของไทย-อาเซียน

สังคม
29 มิ.ย. 66
13:30
665
Logo Thai PBS
เปิดตัว “รถฟอกไตเคลื่อนที่” คันแรกของไทย-อาเซียน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.​เปิดตัว "รถฟอกไตเคลื่อนที่" คันแรกของไทยและอาเซียน​ ให้บริการผู้ป่วยไตเชิงรุก ลดภาระการเดินทาง เพิ่มการเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตั้งเป้าเขตสุขภาพละ​ 1​ คัน

วันนี้ (29 มิ.ย.2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า​ กระทรวงสาธารณสุข​ มีนโยบายขยายบริการฟอกไตฟรีให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยผลักดันให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นให้บริการผู้ป่วยโรคไตแบบเชิงรุกให้เข้าถึงบริการลดความแออัด ลดการรอคอย สะดวกและใกล้บ้าน

ปัจจุบันสถานการณ์โรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ต้องล้างไต เพิ่มจำนวนมากขึ้น

รถฟอกไตเคลื่อนที่ เป็นนวัตกรรมต้นแบบของกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยจะนำร่องที่โรงพยาบาลหนองเสือ​ จ.ปทุมธานี ​เป็นแห่งแรก​ เพราะในพื้นที่นี้มีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมาก และอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลที่มีเครื่องฟอกไต

รถฟอกไตเคลื่อนที่เป็นนวัตกรรมต้นแบบคันแรกของไทยและอาเซียน ช่วยลดข้อจำกัดการให้บริการในชุมชน เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่สะดวก รวดเร็ว ได้มาตรฐาน


ระยะต่อไปโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้น​ อนาคตอาจจะขยายเพิ่มเครื่องฟอกไตภายในรถฟอกไตเคลื่อนที่จาก​ 2​ เครื่อง​เป็น​ 4​ เครื่อง เพื่อขยายความคุ้มค่า

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ระยะที่ 5 ที่ต้องรับการรักษาด้วยการล้างไตทางหน้าท้องจำนวน 23,414 คน และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจำนวน 49,609 ราย มีคลินิกให้บริการฟอกไตด้วยวิธี Hemodialysis 1,151 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ห่างไกล ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รถฟอกไตเคลื่อนที่ จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้มากขึ้น

ภายในรถ ประกอบด้วย เครื่องฟอกไต 2 เครื่อง ให้บริการได้ 2 รอบต่อวัน มีระบบน้ำและไฟฟ้า ระบบการกำจัดน้ำเสียจากการล้างไตผู้ป่วย ที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม 1 คน และผู้ช่วยพยาบาลอีก 1 คน ประจำรถให้บริการ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ติดตามอาการผู้ป่วยขณะฟอกเลือดผ่านทางแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศนำไปใช้บริการต่อไป

ขณะที่นางนันท์ลภัส รังสรรปัญญา​ เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง​มา​ 9​ ปีและต้องฟอกไต 3​ ครั้งต่อสัปดาห์​ ระบุว่า​ แม้ว่าจะใช้สิทธิ​บัตรทองในการฟอกไต​ แต่ก็พบว่ายังมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อครั้ง​ และก่อนหน้านี้ที่บ้านเคยน้ำท่วม​จนไม่สามารถออกมาฟอกไตได้​ จึงต้องจ้างรถพยาบาลมารับ-ส่ง​ เพื่อไปฟอกไต​ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย​การเดินทางต่อวัน​ 1,600 บาท​

การมีรถฟอกไตเคลื่อนที่เป็นสิ่งที่ดีมาก สามารถช่วยคนที่มีความจำเป็นที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล​ได้ฟอกไต​ ได้ช่วยต่อชีวิตเขา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง