ภาพการ์ตูนล้อการเมืองของคุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 29 มิ.ย.2566 สะท้อนภาพความจริงที่เจ็บปวดของคนไทย เมื่อ 2 พรรคใหญ่ที่จับมือลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันแท้ ๆ ยังเล่นเกมยึกยัก ๆ บนขอนไม้ที่ลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเล โดยมีประชาชนกอดกันตัวสั่นงันงกอยู่ตรงกลาง และด้านล่าง มีจระเข้เขี้ยวคมรอขย้ำอยู่
ไม่รู้คิดกันได้อย่างไร เพราะในสถานการณ์ที่เป็นความคาดหวังของผู้คนขณะนี้ กลับเอาเรื่องต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนของพรรคเป็นที่ตั้ง สวนทางกับข้ออ้างตัวเลข 25 ล้านเสียงที่โหวตเลือกให้ฝ่าย 8 พรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จึงมีคนถามว่า ประชาชนได้อะไรกับเกมยื้ออำนาจที่เป็นอยู่
ภาพการ์ตูนของอรุณ วัชรสวัสดิ์ จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 29 มิ.ย.2566
นอกจากมองไม่ออกว่า จะคาดหวังได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว หากมีชำเลืองตาดูรอบ ๆ บ้าง จะได้เห็นความวิตกห่วงใยและการออกโรงเตือนของระดับผู้อาวุโส ที่อยากเห็นการเดินหน้าตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ รวมทั้งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาคนปัจจุบัน หรือแม้แต่ผู้อาวุโสใน 8 พรรคเอง อย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส
การเลื่อนวันเจรจาออกไป และสุดท้ายกำหนดวันที่ 2 ก.ค.2566 นอกจากสะท้อนท่าทีความไม่พอใจจากทั้ง 2 ฝ่าย 2 พรรคแล้ว และในพรรคเดียวกันยังมีจุดกระพือโหมเรื่องนี้ให้บานปลายเพิ่มขึ้น เช่น มีการปล่อยข่าวจะใช้สูตรใหม่จัดสรรโควตารัฐมนตรี เปลี่ยนจาก 14+1 เป็น สูตร15+1 และ 13+1 ให้ผู้คนสับสนยิ่งขึ้น
หนำซ้ำ ล่าสุด นายอดิศร เพียงเกษ นักการเมืองอาวุโส ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ซัดพรรคก้าวไกลว่า ไร้มารยาทเปิดตัวประธานสภาผู้แทนฯ แล้ว ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงการเจรจา
ขณะเดียวกัน นายวัน อยู่บำรุง ทายาทคนดัง “เฮียเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้โพสต์ข้อความ ถึงเวลาพรรคเพื่อไทย ต้องเปิดแคนดิเดทประธานสภาฯ แล้ว
ความจริงไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือน่าปกปิด ตรงกันข้ามจะเป็นเรื่องดีเสียอีก หากพรรคเพื่อไทยเปิดตัวแคนดิเดตประธานสภาฯของพรรคให้ชัดเจนไปเลย ผู้คนจะได้รู้ว่าเป็นใครคนไหน เพื่อให้คนทั่วไป หรือแม้แต่ ส.ส.ที่จะเป็นผู้โหวตเสียงให้ ได้เปรียบเทียบข้อมูลความเหมาะสมโดดเด่น
สำหรับเลือกประธานสภาผู้แทนฯ เปรียบเทียบกับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล เพราะสถานการณ์ที่ยังยื้อเยื้อ และถูกมองว่า เป็นการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่ประชาชนจริง ๆ
ยิ่งเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทย ต้องกล้าที่จะสร้างความกระจ่างแบบตรงไปตรงมา อาทิ ตั้งแต่ครั้งแรกการเจรจาต่อนรองกับพรรคก้าวไกล เสนอหลักการพรรคอันดับ 1 ได้ประธาน อันดับ 2 ได้รองประธาน แล้วมากลับลำในภายหลังได้อย่างไร
เป็นปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะหรือไม่ หรือเรื่องกรณีนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.มีชื่อจะถูกเสนอชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ จากขั้วรัฐบาลเดิม เกิดขึ้นได้อย่างไร และจุดยืนนายสุชาติเรื่องนี้เป็นอย่างไร และล่าสุด น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ ยังโพสต์ข้อความผ่าน FB ยืนยันว่า สุดท้ายจะเป็นของนายสุชาติ แน่นอน
รวมทั้งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ มีความสำคัญอย่างไร ที่พรรคต้องเอาตำแหน่งให้ได้ มีอะไรจะเชื่อมถึงการเตรียมเดินทางกลับประเทศของนายโทนี่ ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ หรือไม่ รวมทั้งการเชื่อมโยงและข่าวลือเรื่องดีลลับ เตรียมตั้งรัฐบาลกับขั้วใหม่ ดัน “บิ๊กป้อม” เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีเกิดขึ้นหรือไม่
เป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยต้องพูดให้ชัดเจน ไม่ใช่อมพะนำไม่พูดอะไร เหมือนเมื่อครั้งถูกถึงแคนดิเดตนายกฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ รวมทั้งในช่วงรณรงค์หาเสียงก็ไม่ยอมพูดชัดเจนเรื่องจุดยืนร่วมรัฐบาลกับ 2 พรรค 2 ป. ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม กระทั่งเกิดปัญหาศรัทธาและความเชื่อมั่น กระทั่งแลนด์สไลด์กลายเป็นแลนด์ไถลในที่สุด
ความไม่ชัดเจนคลางแคลงใจเหล่านี้ นำไปสู่การออกโรงวิพากษ์พรรคเพื่อไทยของกูรูและนักวิชาการส่วนหนึ่งอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในรอบสัปดาห์นี้ แม้แต่นักวิชาการอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.เกียรติคุณ ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่เดิมถือเป็นแฟนคลับเหนียวแน่น ทั้งยอมรับว่า
เลือกพรรคนี้มาตั้งแต่ปี 2544 สมัยไทยรักไทย ยังขอให้พรรคเพื่อไทยยืดอกรับความพ่ายแพ้ อย่าอ้างหลักคณิตศาสตร์ใด ๆ เพื่อหวังแบ่งเค้กเหมือนเด็กเล่นขายของ แต่ควรทำใจให้ใหญ่ เดินต่อไปอย่างทระนง
อีกด้านหนึ่ง ระหว่างการตั้งรัฐบาลยังยืดเยื้อคาราคาซัง ผู้คนกลับได้เห็นการเทคแอคชั่นอย่างต่อเนื่อง ของนายเศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทั้งเดินสายลงพื้นที่ขอบคุณประชาชนเหมือนกับที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำ
นอกจากนี้ยังมีชื่อและการแสดงความคิดเห็นแบบรัวๆ ต่อเนื่องแบบรายวัน ปรากฏบนหน้าสื่อในแทบทุกเรื่องแบบรายวัน เช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม การตอบโต้นายรังสิมันต์ โรม เปลี่ยนวันชาติ หรือเรื่องชอบ ส.สร้าง ไม่ชอบ ส.เสี้ยม เป็นต้น มีนัยยะ
คล้ายเตรียมพร้อมอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะหากพรรคก้าวไกล ไปไม่ถึงฝั่งฝัน อย่างที่คอการเมืองส่วนหนึ่งกำลังวิพากษ์และคาดการณ์ในขณะนี้หรือไม่
หรือทุกอย่างจะไปเริ่มต้นใหม่ที่พรรคเพื่อไทย โดยมีนายเศรษฐา เป็น “เต็งจ๋า” นายกรัฐมนตรี
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา