วันนี้ (3 ก.ค.2566) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลการเกี่ยวกับการจัดระเบียบทางเท้า และหาบเร่แผงลอย ได้ลงพื้นที่บริเวณแนวจัดระเบียบริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งมีร้านค้าแบบแผงค้า หาบเร่แผงลอย และการก่อสร้างอาคารรุกล้ำแนวคลอง
ทางสำนักการโยธา กทม. ร่วมกับสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และพื้นที่คาบเกี่ยวอีก 2 เขต ได้รื้อโครงสร้างที่ผู้ค้าต่อเติมไว้มาก่อนหน้านี้ออกทั้งหมดเปิดพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม และทางเท้าเพื่อปรับภูมิทัศน์และเพื่อให้ประชาชนใช้เดินสะดวกมากขึ้น
นายจักกพันธุ์ ระบุว่า การจัดระเบียบจะเน้นโซนที่ค้าขายบนทางเท้าและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งบริเวนนี้อยู่ติดริมคลองผดุงกรุงเกษม โดยผู้ค้าตลาดโบ๊เบ๊โซนที่ถูกจัดระเบียบเป็นประเภทแผงค้า หาบเร่แผงลอยที่ตั้งเต็นท์แบบเช้ามาเย็นกลับหรือเย็นมาเช้ากลับ และโซนที่ตั้งแผงร้านค้าติดอาคารพาณิชย์แต่อยู่ริมคลองผดุงฯ มีผู้ประกอบการทั้งหมด 110 ราย ในจำนวนนี้ 32 ราย ได้ก่อสร้างอาคารแบบกึ่งถาวร และแบบถาวรขึ้นมาด้วย จึงเป็นเหตุให้จำเป็นต้องรื้อย้ายออกไป เพราะลุกล้ำในพื้นที่สาธารณะ และทางเท้า รวมถึง กทม.อยู่ระหว่างการปรับภูมิทัศน์
ที่ผ่านมา กทม. ใช้วิธีเจรจากับผู้ค้า โดยยึดหลักว่าการค้าขายต้องไม่ไปกระทบทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งประชาชนที่ใช้พื้นที่ทางเท้าต้องมีความสะดวกและปลอดภัย ดังนั้นผู้ค้าที่ทำการค้าอยู่จำเป็นต้องย้ายออก และส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับตลาดโบ๊เบ๊ใหญ่ที่ค้าขายอยู่ก่อนแล้ว
สำหรับภาพรวมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ทั่ว กทม. นายจักกพันธุ์ ระบุว่า ปีที่แล้ว กทม. มีจุดทำการค้าทั้งหมด 791 จุด แต่ปัจจุบันได้เจรจาขอให้ยกเลิก และจัดหาสถานที่ใหม่ทำให้จาก 791 เหลือ 692 จุด โดยผู้ค้าได้ย้ายไปในพื้นที่เอกชนบ้าง หรือที่ กทม.จัดหาให้รวมเกือบ 2,000 ราย
การยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณนี้ ทางสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานเขตดุสิต ได้จัดหาสถานที่รองรับผู้ค้าไว้จำนวนหนึ่ง รวมถึงมีการพูดคุยกับผู้ค้าว่าในอนาคตที่จะมีการทำการค้าแบบถาวรรูปแบบต้องเป็นอย่างไร เนื่องจากตลาดโบ๊เบ๊มีการจัดตั้งมานานแล้ว รวมถึงตลาดมหานาค ก็อายุมากกว่า 30 ปี ฉะนั้นย่านนี้ถือว่าเป็นย่านที่เหมาะสมที่จะค้าขาย แต่เรื่องการจัดระเบียบเป็นส่วนที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยด้วยแผนต่าง ๆ เหล่านี้ ทางผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ ได้วางแผนล่วงหน้ามานานแล้ว
รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุด้วยว่า สำหรับการจัดระเบียบ ทาง กทม.มีขั้นตอนเนื่องจากการค้าขายในที่สาธารณะมีแนวทางการปฏิบัติอยู่แล้ว ดังนั้นเบื้องต้น กทม.พยายามเน้นจัดระเบียบก่อน แต่หลังจากจัดระเบียบไปแล้ว หากพื้นที่ใหม่หรือผู้ประกอบการรายใด ไม่สามารถค้าขายได้จริง กทม.ต้องยกเลิก แต่ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องยกเลิกตรงไหน
ขณะเดียวกันที่เหลืออยู่ 692 แห่ง พยายามจัดระเบียบอยู่แต่ยอมรับว่ามีผู้ค้าบางส่วนบางจุดไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกรุงเทพฯทำให้จำเป็นต้องยกเลิก
สำหรับการจัดระเบียบย่านโบ๊เบ๊- มหานาค นายจักกพันธุ์ ระบุว่า ต้องให้เครดิตกับผู้อำนวยการเขต เพราะสามารถทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ค้าได้โดยไม่เกิดปัญหา สามารถทำความเข้าใจร่วมกับผู้ค้าและประชาชนที่ถูกจัดระเบียบได้ แสดงถึงผู้อำนวยการเขตมีความพยายามใกล้ชิดกับประชาชนทุกระดับ รวมถึงผู้ค้าด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการชี้แจงเหตุผลประชาชนเข้าใจ