เว็บไซต์มิวเซียมสยาม (Museum Siam) โดยพระมหาอิสระ ชัยภักดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ตีความ "บัณเฑาะก์" เป็นกะเทย บวชพระได้ไหม? อย่างน่าสนใจว่า สังคมส่วนใหญ่มักเริ่มต้นประเด็นที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ไม่สามารถอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ได้ โดยนำเอาข้อความในพระไตรปิฎกมาเป็นที่ตั้งว่า
...ปณฺฑโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ...
... ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย...
นั่นหมายถึง "ห้ามบัณเฑาะก์บวช" หากบวชแล้วก็ต้องให้สึก
แต่เมื่อพิจารณาคำว่า "บัณเฑาะก์" นั้นหมายถึงใคร กินความแค่ไหน หรือมีการตีความไว้ว่าอย่างไรบ้าง
ข้อมูลจากคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระมหาเถระ ได้ร่วมกันพิจารณาขยายความถึงข้ออรรถ ข้อธรรมต่างๆ อธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จะพบว่าในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ในข้อว่า "บัณเฑาะก์" พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความแยกออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยวะเพศของชายอื่น
- อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
- โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที และรวมถึงบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศในปัจจุบัน
- ปักขบัณเฑาะก์ คือเป็นบัณเฑาะก์ในช่วงข้างแรม (มีอารมณ์กำหนัดบางวัน) แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น
- นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ ไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด นับเป็นความบกพร่องทางร่างกายแต่กำเนิด
อรรถกากล่าวว่า "อาสิตตบัณเฑาะก์" และ "อุสุยยบัณเฑาะก์" สามารถบวชได้
"ปักขบัณเฑาะก์" สามารถบวชได้ในวันที่ไม่มีกำหนัด
ส่วน "โอปักกมิยบัณเฑาะก์" และ "นปุงสกัปบัณเฑาะก์" นั้นไม่สามารถบวชได้
การอนุญาตให้บัณเฑาะก์บวช พระอรรถกถาจารย์ หมายความว่า ต้องเป็นบัณเฑาะก์ก่อนที่จะเข้ารับการอุปสมบท เมื่อบัณเฑาะก์ผู้นั้นมีความประสงค์ที่จะเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ละทิ้งกริยาอาการแห่งหญิง ตั้งใจที่จะมาอุปสมบทบำเพ็ญภาวนา ก็สามารถที่จะกระทำได้ แต่เมื่อบวชแล้วต้องบังคับข่มใจสละ ความประพฤติเดิมนั้นออกเสีย คือเมื่อเลือกที่จะบวชแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชายของตน ข่มจิตใจอาการแห่งความเป็นหญิงไม่ให้ฟุ้งซ่านขึ้น
การอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดโอกาสของพระพุทธศาสนา
อนุโลมให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติตามพระธรรมวินัยได้ แต่ตนเองนั้นต้องเป็นผู้เลือกที่จะยอมรับวิถีปฏิบัติในหมู่สงฆ์
ส่วนประเภทที่ห้ามบวชนั้นล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับเพศกำเนิดทางกายภาพที่บกพร่อง ในส่วนของผู้ทำการบวชให้ ได้แก่ ประชุมสงฆ์อันมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธาน พระอุปัชฌาย์นี้ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกุลบุตรผู้ที่เข้ามาขออุปสมบทว่าสามารถบวชได้หรือไม่
ในขั้นตอนนี้พระอุปัชฌาย์จะถามอันตรายิกธรรมกับนาคท่ามกลางหมู่สงฆ์ หนึ่งในนั้นมีข้อหนึ่งถามว่า
"...ปุริโส้สิ๊.." (เธอเป็นผู้ชายหรือไม่ ?)
เมื่อกล่าวตอบว่า "อาม ภนฺเต" (ใช่ครับ)
พระอุปัชฌาย์จึงจะอุปสมบทให้ ในขั้นตอนนี้จึงถือเป็นการคัดกรอง สอบถามความแน่ใจและย้ำเตือนบุคคลที่จะเข้ามาอุปสมบทถึงการเลือกและยอมรับการปฏิบัติอย่างสมณเพศ
ถึงจุดนี้คงได้คำตอบแล้วว่า "บัณเฑาะก์" สามารถบวชได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ควรพิจารณามากกว่าคือ เมื่อบวชแล้วจะประพฤติตนอย่างไรมากกว่า
กระแสความเชื่อเรื่องบาปบุญกุศลจากอดีต ยังคงส่งต่อสู่ปัจจุบัน อาจเกิดช่องทางสร้างความเชื่อที่หลากหลายได้ ในขณะเดียวกัน เมื่อพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ตามความศรัทธาของตนแล้ว
พระภิกษุสามเณรนั้นควรจะต้องยกระดับประคับประคองจิตใจ ให้ไม่ก้าวล่วงพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน จีวร เป็นเครื่องแบบ (Uniform) ที่ย้ำเตือนให้ภิกษุต้องระมัดระวังในการประพฤติปฏิบัติตน ต้องข่มกลั้นจิตใจ ต้านทานต่อกระแสโลก กระแสความต้องการของตน
อันตรายิกธรรม เหตุขัดขวางการอุปสมบท 13 อย่าง
13 เหตุขัดขวางที่คู่พระผู้สวดจะถามผู้อุปสมบทในพิธี ส่วนใหญ่มีที่มาจากเหตุในอดีตที่ทำให้หมู่คณะภิกษุสงฆ์ต้องมัวหมอง ซึ่งในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแสดงไว้ ได้แก่
- กุฏธัง - เธอเป็นโรคเรื้อนหรือไม่
- คันโท – เธอเป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่
- กิลาโส – เธอเป็นโรคกลากหรือไม่
- โสโส – เธอเป็นโรคมองคร่อ (มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลม) หรือไม่
- อะปะมาโร – เธอเป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่
- มะนุสโส้สิ๊ – เธอเป็นมนุษย์ ใช่ไหม (เคยมีพญานาคมาแอบบวช)
- ปุริโส้สิ๊ - เธอเป็นผู้ชาย ใช่ไหม (คนมีสองเพศเคยมาบวช)
- ภุชิสโส้สิ๊ - เธอเป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม
- อะนะโนสิ๊ – เธอไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม
- นะสิ๊ ราชะภะโต – เธอไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม (เคยมีทหารหรือข้าราชการออกบวช เพื่อหนีราชการสงคราม)
- อะนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ - บิดา มารดาของเธออนุญาต ใช่ไหม (กรณีราหุลออกบวช)
- ปะริปุณณะวีสะติวัสโส้สิ๊ – เธออายุครบ 20 ปี ใช่ไหม
- ปะริปุณณัณเต ปัตตะจีวะรัง - เธอมีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม (เคยมีคนบวชแล้วไม่มีจีวร ไปเปลือยกายขอบิณฑบาตร ในพิธีบวช)
5 คำถามแรกนี้ ผู้อุปสมบทต้องตอบว่า นตฺถิ ภนฺเต (นัตถิ ภันเต) ซึ่งแปลว่า ไม่ ในอดีตนั้นมีคนเป็นโรคมาขอบวช เพื่อให้หมอเทวดา ชีวกโกมารภัจจ์ รักษา (ปกติหมอเทวดาจะรักษาเฉพาะกษัตริย์ กับภิกษุสงฆ์เท่านั้น) พอรักษาหายแล้วก็สึก ไม่ได้ตั้งใจมาบวชเพื่อศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า
ส่วน 8 ข้อหลังต้องตอบว่า อาม ภนฺเต (อามะ ภันเต) แปลว่า ใช่ครับ
ที่มา : มิวเซียมสยาม