ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

10 ชนิด "งูพิษ" ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก

ไลฟ์สไตล์
6 ก.ค. 66
15:56
64,219
Logo Thai PBS
10 ชนิด "งูพิษ" ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หากตามข่าวพยากรณ์อากาศเป็นประจำ จะพบว่าช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกหนักบ้าง ตกต่อเนื่องบ้างในหลายพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คน รวมถึง สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า หรือ สัตว์เลื้อยคลาน ที่ต้องหาพื้นที่แห้งหนีน้ำ

"งู" เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สร้างความกังวลใจต่อผู้อาศัย และยังสร้างอันตรายต่อชีวิตได้อีกด้วย เนื่องจากพิษของงูจะเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่

  1. ระบบประสาท เช่น พิษจากงูเห่า งูจงอาง
  2. ระบบไหลเวียนโลหิต เช่น พิษจากงูแมวเซา งูเขียวหางไหม้
  3. ระบบกล้ามเนื้อ เช่น พิษจากงูทะเล 

รายงานในปี 2565 จากวารสาร Frontiers of Ecology and Evolution กล่าวถึง งูมีพิษ10 ชนิดที่เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้มนุษย์เสียชีวิต 

  1. งูไทปันโพ้นทะเล (Inland Taipan) ถิ่นกำเนิดในรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย อาศัยตามพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ในโพรงของสัตว์ชนิดอื่นที่ขุดไว้ล่วงหน้า พิษเพียงเล็กน้อยสามารถฆ่ามนุษย์ได้ นับเป็นงูพิษเขี้ยวหน้าที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ส่วนประกอบหลักของพิษคือ สารนิวโรท็อกซิน (neurotoxins) ซึ่งจะไปทำลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โปรตีนโปรโคอะกูเลนท์ (procoagulants) ทำลายระบบเลือดโดยทำให้เลือดไม่แข็ง แผลที่กัดจะมีเลือดไหลตลอดเวลา และ สารไมโอท็อกซิน (myotoxins) ทำลายระบบกล้ามเนื้อ

  2. งูไทปัน (Common Taipan) ถิ่นกำเนิดพื้นที่ชายฝั่งทางเหนือและทางตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย และเกาะนิวกินี หากถูกคุกคามจะยกตัวสูงก่อนฉกด้วยเขี้ยวที่มีพิษทำลายทั้ง 3 ระบบของร่างกาย คือ ประบบประสาท, ระบบกล้ามเนื้อ และ ระบบไหลเวียนโลหิต 

  3. งูจงอาง (King Cobra) จัดเป็นงูพิษที่มีขนาดยาวที่สุดในโลก ตัวที่ยาวเป็นสถิติโลกมีความยาว 5.59 เมตร สายตาดีมองเห็นไกลได้ถึง 100 เมตร งูจงอางเป็นงูพิษที่สามารถต้านทานพิษงูชนิดอื่นๆ ได้อย่างดีเยี่ยม เช่น งูเห่า งูกะปะ เมื่อต่อสู้และถูกกัด จะไม่ได้รับอันตรายจนถึงตาย จะกัดและกินงูเหล่านั้นเป็นอาหารแทน แต่ไม่สามารถต้านทานพิษงูจงอางด้วยกันเองได้ หากมนุษย์ถูกฉกกัด อาจถึงแก่ความตายอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 15 นาที

  4. งูสามเหลี่ยม (Banded Krait) พบมากในอินเดีย, บังคลาเทศ ลำตัวเป็นสันสามเหลี่ยมชัดเจน อันเป็นที่มาของชื่อเรียก เลื้อยช้าแต่ว่ายน้ำได้เร็ว สีของลำตัวเป็นปล้องดำสลับเหลืองทั้งตัว มีพิษทำลายระบบประสาท เมื่อถูกกัดจะมีอาการชักกระตุก

  5. งูพิษเกล็ดเลื่อย (Saw-Scaled Viper) พบมากในอินเดีย หากถูกคุกคามจะไม่ขู่ด้วยเสียง แต่จะใช้เกล็ดของมันถูกันเพื่อให้เกิดเสียงแทน เมื่อถูกงูชนิดนี้กัดจะเกิดอาการปวดและบวมบริเวณแผล นอกจากนี้พิษของมันยังสามารถทำให้เกิดเลือดออกภายในและไตวายเฉียบพลันในที่สุด

  6. งูแมวเซาอินเดีย (Indian Russell's viper) เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมากอีกชนิดหนึ่ง เมื่อกัดมนุษย์จะมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้แก่ถึงความตายได้ งูแมวเซาอินเดียมีรูปร่างอ้วนป้อม ลำตัวสั้น หางสั้น เมื่อถูกคุกคาม จะขดตัวเหมือนแมวนอนขด พร้อมทั้งทำเสียงขู่คล้ายแมวหรือยางรถยนต์รั่ว เนื่องจากสูบลมเข้าไปในตัวจนตัวพอง แล้วพ่นลมออกมาทางรูจมูกแรงๆ แทนที่จะเลื้อยหนี
     
  7. งูเสือ (Tiger Snake) ตั้งชื่อตามแถบสีเหลืองและดำบนลำตัว พิษของงูเสือสามารถทำให้ผู้ที่ถูกกัดเสียชีวิตได้ภายใน 15 นาที พบมากทางใต้ของออสเตรเลียรวมถึงชายฝั่งเกาะแทสมาเนีย 

  8. งูบูมสแลง (Boomslang) พบได้ในทวีปแอฟริกา เมื่อถูกคุกคามจะขยายคอให้ใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าและเผยให้เห็นผิวหนังสีอ่อนๆ ระหว่างเกล็ด โดยพิษของมันจะทำให้เมื่อถูกกัดแล้วจะมีอาการเลือดออกทั้งภายในและภายนอกร่างกาย มนุษย์สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง

  9. งูเฟอร์เดอแลนซ์ (Fer-de-lance) มีถิ่นอาศัยอยู่ในบราซิล เม็กซิโก และแอฟริกา พิษมีสารแอนติโคแอกูแลนต์ หรือ สารที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่ถูกฉกกัดจะมีอาการตกเลือด เนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัดจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำและเนื้อตายในที่สุด

  10. งูแบล็กแมมบา (Black Mamba) ได้ชื่อว่าเป็นงูที่อันตรายที่สุดในแอฟริกา สามารถฆ่าคนได้ด้วยพิษเพียง 2-3 หยด โดยพิษจะรบกวนการทำงานของจุดเชื่อมต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเชื่อมต่อกัน ส่งผลให้เป็นอัมพาต และยังส่งผลให้หัวใจวายและหยุดเต้นภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที 


วิธีช่วยเหลือเมื่อถูกงูกัดให้รีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด และพยายามเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ห้ามกรีดแผล ห้ามใช้เหล้า-แอลกอฮอล์ ห้ามใช้ยาสีฟันหรือสิ่งอื่นๆ ทาแผล เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ ห้ามดูดพิษ และควรช่วยผู้ป่วยในเรื่องของการหายใจ

ที่มา : Animalaroundglobal, Livescience, Rama Channel 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง