"โลมา" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล ซึ่งเป็น 1 ในสัตว์ที่มีอายุยืนยาวและขยายพันธุ์ช้า นักวิจัยจึงให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจสุขภาพของประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ โดยใช้โดรนในการติดตามชีวิตโลมาเพื่อการอนุรักษ์นั้นดียิ่งขึ้น เนื่องจากการศึกษาด้วยวิธีดั้งเดิมที่ใช้ในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงระดับประชากรอาจใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะทราบผล เมื่อถึงจุดนั้นอาจสายเกินไปที่จะแก้ปัญหาจำนวนประชากรโลมาที่ลดน้อยลงได้
การตรวจพบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจำนวนประชากรของโลมาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของประชากรได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราชีพสัมพันธ์อย่างมากกับการเบี่ยงเบนของการเติบโตของประชากรโลมา จึงจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการลดจำนวนลงของประชากร ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามของนักวิจัยในการอนุรักษ์โลมา
เมื่อโลมาว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจจะมองเห็นช่องลมและครีบหลัง นักวิจัยจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน เพื่อศึกษาและประเมินระยะห่างระหว่างช่องลมและครีบหลัง ซึ่งจะช่วยในการประเมินความยาวตลอดทั้งลำตัวของตัวโลมาปากขวด และมีการพัฒนาเทคนิคการอนุมานอายุตามความยาวของโลมาแต่ละตัวที่วัดได้ เนื่องจากความยาวทั้งหมดของตัวโลมามีความสัมพันธ์กับอายุ
ก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาขนาดของวาฬโดยใช้ภาพถ่ายจากโดรน ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ยังไม่ได้มีการทดสอบด้วยวิธีการเดียวกันนี้กับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น โลมา จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการศึกษาในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่สิ่งที่นักวิจัยจะได้จากการศึกษา คือ ความสามารถในการตรวจสอบสุขภาพของประชากรโลมาที่แหวกว่ายอย่างอิสระในทะเลได้อย่างรวดเร็ว และอาจเอื้อต่อการตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของประชากร พร้อมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจในการจัดการอย่างทันท่วงที
ที่มาข้อมูล: popsci, sciencedaily, petapixel, headtopics
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech