18 ก.ค. นี้จะมีพิธีฌาปนกิจศพ “พนม นพพร” หรือ “ลุงโอ” เจ้าของเพลงดัง “ลาสาวแม่กลอง” ที่ วัดบางรักน้อย ถนนบ้านไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ถือเป็นการปิดตำนานของอดีตนักร้องรุ่นเก๋าวัย 77 ปี นิรันดร์กาล
พนม นพพร เสียชีวิตอย่างสงบจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ฝากความทรงจำไว้กับเสียงเพลงเศร้า “ลาสาวแม่กลอง” และทิ้งเสียงร้องผ่านเพลงดังในอดีตให้แฟนๆ ไว้ฟังอีกหลายเพลง เช่น ฮักสาวขอนแก่น,ลาสาวแม่กลอง,ตุ๊กติ๊ก,เซิ้งสวิง,ข้าวเหนียวติดมือ,เขียนจดหมายส่งมา,11 ไฮโล,นักร้องพเนจร ,หนุนขอนต่างแขน,ใต้เงาโศก
พนม นพพร ชื่อจริง ชาตรี ชิณวุฒิ ชื่อเล่น “โอ” เป็นหนุ่มเมืองน้ำเค็ม เกิดวันที่ 27 พ.ค.2489 ที่ ต.หนองตำลึง อ.พานทอง จ.ชลบุรี มีฐานะครอบครัวปานกลาง มีที่นาให้เช่ามีร้านกาแฟ มีพี่น้อง 4 คน เขาเป็นลูกคนที่ 3 หลังเรียนจบชั้น ม.ศ 5 จากโรงเรียนพัฒนศิลป์ แต่ไม่ได้เรียนต่อเพราะอยากเป็นนักร้อง ทั้งๆ ที่ครอบครัวอยากให้รับราชการ
อาลัย พนม นพพร
รับจ้างร้องเพลงเชียร์รำวงคืนละ 20 บาท
ด้วยนิสัยชอบดูรำวงและฟังวิทยุ หลังมีประสบการณ์ประกวดร้องเพลงตามเวทีประกวด แต่ “พนม นพพร” ไม่เคยชนะ เคยขึ้นไปร้องเพลงเชียร์รำวง ได้ค่าร้องเพลงละ 20 บาท เพราะบ้านอยู่ใกล้กับคณะรำวงดาวน้อย และดาวทองแห่งยุค
ในช่วงนั้น เขาเริ่มหัดร้องเพลงโดยยึดแนวของ นักร้องชื่อดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ครูคำรณ สัมบุณณานนท์ , ชาย เมืองสิงห์, พร ภิรมย์, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
ต่อมาวงดนตรีของเทียนชัย สมยาประเสริฐ มาเปิดการแสดงย่าน ต.บางพระ จ.ชลบุรี และมีรายการประกวดร้องเพลง ซึ่งเขาได้ไปประกวด แต่ในงานนี้เป็นการประกวดแบบอัดเทป และประกาศผลทางสถานีวิทยุในภายหลัง ปรากฏว่าเขาได้รับชัยชนะ ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่พนมจบการศึกษาแล้ว จึงหอบเสื้อผ้าเข้ากรุงเทพ ฯ โดยมาอยู่ที่บ้านของเทียนชัย สมยาประเสิรฐ เพื่อฝึกร้องเพลงและร่วมวงดนตรี และรับการบันทึกเสียงเพลงแรก คือ “ลมร้อน” ผลงานการประพันธ์ของ อรุณ รุ่งรัตน์
เริ่มมีชื่อวงดนตรีก็แตกแยกย้าย
แค่ร้องเพลงแรก ชื่อของ “พนาวัลย์ ลูกเมืองชล” หรือ “พนม นพพร” ได้สร้างชื่อเขาเป็นที่รู้จักพอสมควร แต่อยู่ได้ไม่นานนัก วงดนตรีเทียนชัยก็แตก เนื่องจากลูกวงแยกย้ายกันไปตั้งวงเอง
เมื่อไร้สังกัด พนม นพพร จึงต้องเลี้ยงชีพด้วยการไปเป็นนักร้องสลับฉากให้กับคณะลิเก และวงดนตรีอื่นๆ ทั้ง เพลิน พรมแดน , นิยม มารยาท และอื่นๆ ต่อมามีผู้ชวนไปสมัครอยู่กับวงจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล แต่ครูไม่รับ โดยให้เหตุผลว่านักร้องเต็ม แม้จะพยายามร้องเพลงให้ฟัง แต่ครูก็ยังไม่รับ
สุดท้าย “พนม นพพร” จึงเสนอตัวเป็นเด็กรถประจำวงและรับใช้นักร้องในวง แค่พอให้มีข้าวกินไปวันๆ ซึ่งครูมงคลก็ตอบตกลง
แต่ดวงคนจะดัง ความลำบากก็รั้งไม่อยู่ระ หว่างที่วงจุฬารัตน์เดินสายไปภาคอีสาน ที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น นักร้องในวงเริ่มป่วยกันมากขึ้น ทางวงเกรงว่าโปรแกรมการแสดงจะไม่พอจึงให้ พนม นพพร ซึ่งมีหน้าที่เก็บตั๋ว ขึ้นไปร้องเพลงขั้นเวลาโดยให้ร้องเปิดวงเป็นคนแรก
พนมได้นำเพลง “อนิจจา” ของโฆษิต นพคุณ มาร้อง แม้จะสร้างความถูกใจให้กับคนในวงและคนดู แต่เมื่อลงจากเวทีก็ยังต้องไปเก็บตั๋วเหมือนเดิม และได้ร้องเพลงเปิดวงครั้งละ 1 เพลงมาตลอด
อาลัย พนม นพพร
“ลาสาวแม่กลอง” เปลี่ยนชีวิต
เมื่อกลับมากรุงเทพฯ โอกาสก็มาถึง เมื่อพนม นพพร ตามนักร้องในวงไปแผ่นเสียง และครูมงคลเห็นว่าพอมีเวลาเหลือ จึงเรียกเขามาลองซ้อมเพลง “สุขีเถิดที่รัก” ซึ่ง สรวง สันติ เป็นผู้แต่ง ครูมงคลจึงเขียนโน้ตให้นักดนตรี และบันทึกเสียงให้เขาทันที ซึ่งเพลงดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
ในวัย 22 ปี “พนม นพพร” ได้บันทึกเสียงอีก 2 เพลง เพลงแรกชื่อ “อัดอั้นตันใจ” ของลพ บุรีรัตน์ และเพลง “ลาสาวแม่กลอง “ ซึ่งพนมบอกว่า ไม่ค่อยชอบ เพราะไม่ใช่แนว แต่ครูมงคลแนะนำว่า ยิ่งไม่ชอบยิ่งต้องใช้ความพยายาม และในที่สุดเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่สร้างชื่อให้พนม นพพร ขึ้นมาอยู่ในชั้นแนวหน้าของวงการลูกทุ่งไทย
เข้าวงการบันเทิง-เจ้าของค่ายเพลง
นอกจากเอาดีด้านร้องเพลงแล้ว “พนม นพพร”ยังมีฝีมือแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง หลังจากยุบวงดนตรีจุฬารัตน์แล้ว เขาไปเป็นตัวประกอบวิ่งผ่านหน้าฉากและร่วมแสดงหลายเรื่อง และได้รับบทเด่นเรื่อง“ ลมรักทะเลใต้ “ ควบคู่กับการร้องประกอบภาพยนตร์จนโด่งดัง
พนม นพพร ตัดสินใจตั้งวงดนตรีของตัวเองและออกเดินสายแสดงดนตรีร่วมกับการรับงานแสดงภาพยนต์ทำได้เพียง 6 ปีก็ยุบวง และเมื่อมีประสบการณ์เกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เพิ่มขึ้น ทั้งเขียนบท ตัดต่อ ฯลฯจึงได้สร้างภาพยนตร์บู๊เรื่องแรกคือ “ คมนักเลง “ มี สมบัติ เมทะนี และ อรัญญา นามวงศ์ นำแสดง
และการสร้างภาพยนตร์ต่อในเรื่องที่ 2 คือ “ คุณพ่อขอโทษ “ นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตร และ ลลนา สุลาวัลย์ ภาพยนตร์เรื่องนี้พอประสบความสำเร็จอยู่บ้าง และเมื่อถึงเรื่องที่ 3 คือ “ จับกัง “ ที่มี สรพงษ์ ชาตรี นำแสดง พนม นพพร ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้ทั้งเงินและกล่อง สมความตั้งใจ
ในช่วงกลางชีวิต “พนม นพพร” หันมาทำธุรกิจและจัดรายการโทรทัศน์ รวมทั้งตั้งค่ายเพลง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน และนับเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจมากที่สุดอีกคนหนึ่งของเมืองไทย
พนม นพพร มีอาการป่วยด้วยโรคเส้นเลือดสมองแตกตั้งแต่ปี 2554 และรักษาตัวมาตลอด ต่อมามีอาการลิ่มเลือดจากหัวใจหลุดขึ้นไปที่สมองทำให้ต้องผ่าตัดและกลับมาพักฟื้นที่บ้านเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตโดยสงบ
นายธีรเจต ชินวุฒิ ลูกชายพนม นพพร ระบุว่า ก่อนที่พ่อจะเสียเคยสั่งไว้ว่า ไม่ต้องทำอะไรให้เอิกเกริก ทำแบบง่ายๆ เรียบง่าย และการสูญเสียเกิดขึ้นครอบครัวไม่ทันตั้งตัว
เป็นการปิดตำนานชีวิตเจ้าของบทเพลง “ลาสาวแม่กลอง” ไปตลอดกาล