ดวงจันทร์เอนเซลาดัสเป็นดาวบริวารใหญ่อันดับที่ 6 ของดาวเสาร์ จากทั้งกว่า 146 ดวง พื้นผิวของเอนเซลาดัสปกคลุมไปด้วยแผ่นน้ำแข็งที่มีความเข้มข้นของเกลือสูง ใต้แผ่นน้ำแข็งนี้มีมหาสมุทรขนาดใหญ่อยู่ รอยร้าวในแผ่นน้ำแข็งบนพื้นผิวนำไปสู่การปะทุของน้ำจากข้างใต้จนเกิดเป็นน้ำพุขึ้น ท้ายที่สุด น้ำจากน้ำพุนี้จะแข็งตัวและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน E ของดาวเสาร์
ปัจจัยแห่งชีวิตบนเอนเซลาดัส
ระหว่างการสำรวจดาวเสาร์ของแคสสินีกว่า 13 ปี แคสสินีได้บินผ่านวงแหวน E ของดาวเสาร์หลายครั้ง จึงมีโอกาสได้ตรวจสอบวัตถุในวงแหวน E จากการวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์ น้ำแข็งเหล่านี้มีธาตุและสารอินทรีย์หลายชนิด รวมถึงส่วนประกอบของกรดอะมิโนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญโปรตีน
นอกจากสารอินทรีย์เหล่านี้แล้ว แคสสินียังพบฟอสฟอรัส อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบของโมเลกุลให้พลังงานอย่างอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (adenosine triphosphate) ซึ่งทุกชีวิตที่มนุษย์เรารู้จัก ใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ รวมถึงเซลล์มนุษย์ด้วย ชีวิตจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีฟอสฟอรัส
การวิเคราะห์ข้อมูลของยานแคสสินีก่อนหน้านี้ ค้นพบโซเดียม โพแทสเซียม คลอรีน และคาร์บอเนตในมหาสมุทรใต้แผ่นน้ำแข็งของเอนเซลาดัส ซึ่งบ่งบอกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้นมีความเป็นด่างเล็กน้อย ซึ่งเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสเป็นไปได้หรือไม่ ?
ในการสำรวจอวกาศปัจจุบัน มนุษยชาติยังไม่ค้นพบรูปแบบของสิ่งมีชีวิตบนวัตถุทางดาราศาสตร์อื่น ๆ นอกจากโลกแต่อย่างใด หลายหนที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวัตถุดิบที่สำคัญต่อการเกิดชีวิต แต่ไม่พบชีวิตที่เกิดขึ้นจากวัตถุดิบนั้น ๆ เหตุผลหนึ่งก็คือการเกิดชีวิตนั้นอาศัยสมดุลของปัจจัยนับไม่ถ้วน การมีวัตถุดิบของชีวิตจึงไม่ได้หมายความว่าจะเกิดชีวิตขึ้นเสมอไป และการสำรวจหาวัตถุดาราศาสตร์ที่เอื้อต่อชีวิตยังคงดำเนินต่อไป
ชะตากรรมของแคสสินี
แคสสินีได้ถูกปลดระวางไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 และภารกิจสุดท้ายของแคสสินีคือการตกลงไปสู่ดาวเสาร์เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2017 ปัจจุบันยานแคสสินี-ฮอยเกนส์เป็นส่วนหนึ่งของดาวเสาร์ อย่างไรก็ตามข้อมูลจำนวนมากของแคสสินียังคงถูกวิเคราะห์และศึกษาโดยนักดาราศาสตร์ตลอดมา
ที่มาข้อมูล: NASA
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech