วันนี้ (18 ก.ค.2566) โลกออนไลน์แชร์ภาพเหตุการณ์ระทึกกว่า 6ชั่วโมงที่เกิดขึ้นบนเรือเฟอร์รี่ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ผู้โดยสาร 27 คน และพนักงานเรืออีก 4 คน ประสบเหตุเครื่องยนต์ขัดข้อง เนื่องจากมีอวนพันใบจักรเรือ จนเรือดับและลอยกลางทะเลต้องขอความช่วยเหลือจากกองทัพเรือช่วยเหลือขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นวันที่ 17 ก.ค.2566 กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ได้รับแจ้งเหตุเมื่อเวลา 08.00 น. เรือเฟอร์รี่ข้ามฟากเกาะช้างของบริษัท ตราดเฟอร์รี่ ขับไปโดนเศษซากอวนเก่าพัดติดใบจักรเรือ ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง นักท่องเที่ยว และประชาชนติดอยู่บนเรือ
น.อ.วัชรพงษ์ ปรียานนท์ ผู้บังคับการฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ประสาน ศรชล.ตราด ส่งเรือ ต.82 และเรือ ต.263 ปฎิบัติราชการทัพเรือภาคที่ 1 และ ศรชล.ภาค 1 จุดที่พบเรืออยู่บริเวณแหลมบ้านยายม่อม อ.แหลมงอบ จ.ตราด เรือเฟอร์รี่ ถูกกระแสลมและคลื่นพัดมา ห่างจากจุดเส้นทางเดินเรือของเฟอร์รี่ ประมาณ 3.2 ไมล์ทะเล บริเวณท้ายเรือมีเศษซากอวนเก่าพันติดอยู่กับใบจักรเรือ
โดยเฟอร์รี่ดังกล่าวเป็นเที่ยวเรือที่เวลา 07.15 น. กำหนดออกจากฝั่งแหลม งอบไปเกาะช้าง มีนักท่องเที่ยว 28 คน และรถยนต์ 17 คัน โดยเรือเข้าช่วยเมื่อเวลา 14.30 น.นำนักท่องเที่ยว ขึ้นฝั่งที่ท่าเทียบเรือสวนหลวง ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราดได้อย่างปลอดภัย
เรือ ต.82 และ เรือ ต.263 ออกเรือช่วยเหลือเรือเฟอร์รี่ประสบเหตุเครื่องยนต์ขัดข้อง
พบซากอวนขนาดใหญ่ติดใบพัดยังเก็บกู้ไม่ได้
ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก สายลม แสงแดด โพสต์ภาพท้ายเรือที่ยังมีร่องรอยของอวนประมงขนาดใหญ่ติดท้ายเรือ พร้อมระบุว่า เรียนลูกค้าตราดเฟอร์รี่ ทุกท่านทราบเนื่องจากเหตุการเมื่อวาน 17/7/66 ได้มีอวนประมงขนาดใหญ่ลอย มากับกระแสลม ติดใบจักรเรือทำให้เครื่องเรือหยุดทำงาน ตอนนี้ยังไม่สามารถนำออกได้ บวกคลื่นลมแรงการทำงานเป็นไปได้ยาก จึงหยุดการวิ่งเรือไปก่อน ถ้าแล้วเสร็จทางเราจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และขออภัยในความไม่สะดวก
ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์คุณพร ผู้จัดการตราดเฟอร์รี่ ให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังไม่สามารถเก็บซากอวนที่ติดใบพัดเรือเฟอร์รี่ลำที่เกิดเหตุได้
ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่เรือเฟอร์รี่ถูกขยะอวนประมงขนาดใหญ่ติดจนเรือดับ ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เวลาเก็บกู้แล้วเสร็จทันภายในวันนี้หรือไม่
ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่าสถานการณ์ขยะที่เก็บได้จากทะเลพบว่ามีมากถึง 128,563 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักขยะ 11 ตัน ในจำนวนนี้เป็นถุงพลาสติก 24% รองลงมา เศษโฟม 11% ถุงก็อบแก๊บ 10% ขวดเครื่องดื่ม 10% และถุงอาหาร 6%
สอดคล้องกับที่ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า สถานการณ์ทะเลไทย จาก 15 ปีก่อนของการรณรงค์วันทะเลโลก เปลี่ยนภัยคุกคามในอดีต ที่เกิดจากผลกระทบด้านการท่องเที่ยว แต่ช่วง 3-4 ปีนี้ คือปัญหาขยะทะเล สัตว์ทะเลหายาก ติดขยะตายปีละมากถึง 900 ตัว และครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มเต่าทะเลหายาก ที่กินขยะพลาสติก และติดเครื่องมือประมงตาย
อ่านข่าวเพิ่ม
"World Ocean Day" ฟื้นโลกสีคราม ในวันทะเลป่วย