มติของ 8 พรรคร่วมเห็นตรงกันแล้วว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล โหวตนายกฯ เป็นครั้งที่ 2 กำหนดเงื่อนไขต้องได้เสียงสนับสนุนเพิ่มไม่น้อยกว่า 10% ไม่อย่างนั้นจะถอยเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย
โจทย์ของพรรคก้าวไกลมี 2 เรื่อง
- สภาจะเปิดให้เสนอชื่อ พิธา ซ้ำได้หรือไม่
- จะรวมเสียงจากไหนพลิกสถานการณ์นี้
การประชุมวิปสามฝ่ายวันนี้ (18 ก.ค.2566) น่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ที่ประชุมรัฐสภาจะหยิบเอาข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 “ห้ามเสนอญัตติที่ถูกปัดตกไปแล้ว” เข้าไปพูดคุยกันหรือไม่ นี่คือหนึ่งด่านหินของ พิธา ที่ ส.ว. และ ส.ส. บางกลุ่มบางฝ่ายได้ยกเป็นประเด็นไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน
อีกหนึ่งโจทย์ยากของพรรคก้าวไกลคือการรวมเสียง ส.ว. ให้เกินครึ่งของรัฐสภา (ปัจจุบันเหลือ 749 คน) และไม่มีหลักประกันใดชี้ชัดได้ว่า ในระยะเวลาเพียง 5 วันนับจากการลงมติเลือกนายกฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะทำให้พรรคก้าวไกลสามารถพลิกเกมขึ้นในการลงมติพรุ่งนี้ได้
ผ่าทางตัน 3 ทางออก โหวตนายกฯ
ฉากการเมืองวันลงมติ
1. “พิธา” ฉลุย
ตอนนี้ 8 พรรค มี 312 เสียง โจทย์ยากยังคงเดิมคือ 8 พรรคร่วมยังต้องการเสียงสนับสนุน 64 เสียง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย 376 เสียง แต่จะใช้วิธีไหนขอเสียงเพิ่ม เมื่อการโหวตรอบแรกปรากฏชัดเจนว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่แตกแถว ขณะที่ ส.ว. เทโหวตให้เพียง 13 เสียงเท่านั้น
โจทย์ที่ ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายเสียงข้างน้อยยกเป็นปัจจัยคือจุดยืนแก้ไขกฎหมาย ม.112 ของพรรคก้าวไกล มีหลายคนที่เอ่ยปากกลางสภาขอให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่องนี้ แต่การสื่อสารของพรรคก้าวไกลชัดเจนว่า ไม่ถอย
2. “เพื่อไทย” ถือธงนำ
แนวทางนี้จะเกิดขึ้นทันทีที่ พิธา ไม่สามารถฝ่าด่านการลงมติได้ พรรคเพื่อไทยนาทีนี้มีแนวโน้มเสนอชื่อแคนดิเดตต่อในทันทีโดยยังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ใน 8 พรรคเดิม
เส้นทางนี้อาจทำให้พรรคเพื่อไทยต้องใช้ แคนดิเดตที่ “ไม่ใช่ตัวจริง” ในลักษณะกรุยทางหรือโยนหินถามทาง เพราะต้องไม่ลืมว่า ส.ว. บางคนยืนกรานว่าจะไม่สนับสนุนแคนดิเดตจากฝ่ายที่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย
หากเสนอชื่อของพรรคเพื่อไทยไม่ประสบความสำเร็จ การเจรจาถอนตัวระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลอาจเกิดขึ้นตามมา และจึงเป็นจังหวะที่จะใช้เสนอชื่อแคนดิเดต “ตัวจริง” เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภาได้
3. พลิกขั้ว
แนวทางนี้เกิดขึ้นได้ยากในจังหวะเวลาการเมืองปัจจุบัน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความชอบธรรมและเสียงสนับสนุนที่มากพอจะตั้งรัฐบาลได้ หากพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเจรจาแยกตัวจากกัน สิ่งที่เพื่อไทยต้องคำนึงถึงคือการเติมเสียงที่ขาดหายไป 151 เสียง
แนวทางที่เป็นไปได้คือการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในวันนี้ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมพรรคแล้ว แม้ว่าจะยังมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"อิ๊งค์" หนุน "เศรษฐา" นายกฯ หาก "พิธา" ชวดรอบ 2 เชื่อไร้งูเห่า