วันที่ 18 ก.ค.2566 สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงข่าวการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยประจำปี 2566 Amazing Dark Sky In Thailand #SEASON 2 เปิดตัว 18 เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด แหล่งท่องเที่ยวดูดาวแห่งใหม่ของเมืองไทย พร้อมรับโล่และใบประกาศให้หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดแห่งใหม่ของประเทศไทย จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กำแพงเพชร
ในปี 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วม ททท.ประกาศรายชื่อเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด หรือ Amazing Dark Sky #Season 2 แห่งใหม่อีก 18 แห่ง โดยเป็นพื้นที่อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว) จ.กำแพงเพชร, อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกางเต็นท์กลางดง) จ.สระแก้ว, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา, อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) จ.น่าน และวนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี
นอกจากอุทยานท้องฟ้ามืดทั้ง 5 แห่งแล้ว ยังมีเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ Mela Garden Retreat Cottage จ.สระบุรี, Khirimala Eco Camp จ.ราชบุรี, ฟาร์มแสงสุข จ.ระยอง ไร่เขาน้อยสุวณา จ.นครราชสีมา, ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย Villa De View – Boutique Residence at Chiang Dao เชียงดาวฟาร์มสเตย์ บ้านสวนป่าโป่งดอย The Teak Resort พูโตะ จ.เชียงใหม่ และอ่าวโต๊ะหลี จ.พังงา
อุทยานแห่งชาติตาพระยา สระแก้ว
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สวนสัตว์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น และSummit Green Valley Chiangmai Country Club จ.เชียงใหม่ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย
ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมา มีสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ
วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อุบลราชธานี
สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ส่วนบุคคลที่มีความมืดของท้องฟ้าในเวลากลางคืนอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุบนท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า โดยการใช้แสงสว่างอย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ และการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์