ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โหวตนายกฯ รอบ 2 : ตีความหมายของ "ญัตติ" ตามรัฐธรรมนูญไทย

การเมือง
19 ก.ค. 66
11:36
2,466
Logo Thai PBS
โหวตนายกฯ รอบ 2 : ตีความหมายของ "ญัตติ" ตามรัฐธรรมนูญไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นไปตามบทบัญญัติของ รธน. โดยมี "ญัตติ" เป็นสิ่งสำคัญ ญัตติเป็นข้อเสนอเพื่อให้ที่ประชุมสภาได้พิจารณาดำเนินการเรื่องต่างๆ ตามจุดประสงค์ของญัตตินั้นๆ จึงเป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา

ถ่ายทอดสด โหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค.66 จับตา “พิธา” ได้เสียงเพิ่มหรือไม่

ความหมายของญัตติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของ "ญัตติ" คือ ข้อเสนอเพื่อลงมติ เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ มีการให้ความหมายอื่น ๆ ดังนี้

ญัตติ หมายถึง เรื่อง ปัญหา หรือ ประเด็น ที่สมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา เพื่อให้มีการลงมติในเรื่องปัญหา หรือ ประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีความหมายว่า ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายจะให้รัฐสภาลงมติหรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป

อ่าน : โหวตนายกฯ รอบ 2 : "ก้าวไกล" จ่อยื่นศาล รธน. ตีความข้อบังคับที่ 41

ประเภทของญัตติ

ประเภทของญัตติพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการเสนอญัตตินั้นๆ ว่ามีความต้องการให้รัฐสภาดำเนินการอย่างไร เช่น ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 อาจแบ่งประเภทของญัตติได้ 2 ประเภท คือ

  1. ญัตติที่ต้องเสนอเป็นหนังสือ
  2. ญัตติที่ไม่ต้องเสนอเป็นหนังสือ

อ่าน : โหวตนายกฯ รอบ 2 : ข้อบังคับที่ 41 คืออะไร หลัง สว.งัดปิดทางโหวต "พิธา"

ญัตติที่ต้องเสนอเป็นหนังสือ

คือ ญัตติที่ต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อยื่นเสนอต่อประธานสภาฯ และต้องเสนอล่วงหน้า ญัตติประเภทนี้มักเป็นญัตติสำคัญที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2551 ได้กำหนดญัตติที่ต้องเสนอเป็นหนังสือ (ข้อ 37-42) มีดังนี้

  1. ญัตติที่เป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
  2. ญัตติที่เป็นร่าง พ.ร.บ.
  3. ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
  4. ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
  5. ญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
  6. ญัตติขอให้สภามีมติให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมสภา
  7. ญัตติขอให้สภามีมติ ในกรณีมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป
  8. ญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการหรือขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา
  9. ญัตติด่วน เพื่อเสนอให้สภาพิจารณาเป็นการด่วน เป็นกรณีที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือในทางใดๆ ก็ตาม หรือในอันที่จะขจัดเหตุใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ญัตติด่วน ต้องไม่มีลักษณะทำนองเดียวกับกระทู้ถามและต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สภาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
  10. ญัตติขอให้ประชุมลับ โดยปกติแล้วการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะประชุมโดยเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ แต่บางกรณีเป็นเรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะอาจมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของประเทศชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาตามจำนวนที่กำหนดร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
  11. ญัตติทั่วไปที่เสนอตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551

อ่าน : โหวตนายกฯ รอบ 2 : “พิธา” เขียน 4 ประเด็น ฝากถึง สว.ก่อนโหวตนายกฯ รอบ 2

ส่วนในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2551 ได้กำหนดญัตติที่ต้องเสนอเป็นหนังสือ (ข้อ 35-39) มีดังนี้

  1. ญัตติขอให้ประชุมลับ
  2. ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
  3. ญัตติเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งได้
  4. ญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
  5. ญัตติขอให้วุฒิสภามีมติให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมวุฒิสภา
  6. ญัตติขอให้คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาหรือญัตติขอให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา
  7. ญัตติขอให้วุฒิสภามีมติในกรณีมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป
  8. ญัตติทั่วไปที่เสนอตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551

อ่าน : โหวตนายกฯ รอบ 2 : เริ่มแล้ว! ประชุมสภา 19 ก.ค.โหวตนายกฯ คนที่ 30

ญัตติที่ไม่ต้องเสนอเป็นหนังสือ

คือ ญัตติที่ไม่ต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้เสนอสามารถเสนอต่อที่ประชุมสภาด้วยวาจา ญัตติประเภทนี้จะเป็นญัตติที่เกี่ยวกับวิธีการประชุม เพื่อให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2551 ได้กำหนดญัตติที่ไม่ต้องเสนอเป็นหนังสือ (ข้อ 46) มีดังนี้

  1. ญัตติขอให้พิจารณาเป็นเรื่องด่วน
  2. ญัตติขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม
  3. ญัตติขอให้ลงมติให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใด ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน
  4. ญัตติขอให้ลงมติห้ามโฆษณาข้อความอันเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ที่ได้กล่าวหรือปรากฏในการประชุม
  5. ญัตติขอแปรญัตติเฉพาะในเรื่องที่ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่าง พ.ร.บ.
  6. ญัตติขอให้รวมระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกัน หรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน
  7. ญัตติขอให้ส่งปัญหาไปยังคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา
  8. ญัตติขอให้บุคคลใดส่งเอกสารมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น
  9. ญัตติขอให้รวมหรือแยกประเด็นพิจารณา หรือลงมติ
  10. ญัตติขอให้เลื่อนการปรึกษาหรือพิจารณา
  11. ญัตติขอให้ปิดอภิปราย แต่จะเสนอในคราวเดียวกับการอภิปรายของตนไม่ได้
  12. ญัตติขอให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษาหรือพิจารณา แต่จะเสนอในคราวเดียวกับการอภิปรายของตนไม่ได้ เพราะอาจมีผลทำให้ญัตติเดิมตกไป และห้ามเสนอในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.
  13. ญัตติเสนอวิธีลงคะแนนเสียงในการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือลับ
  14. ญัตติขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. โดยคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งหรือคณะกรรมาธิการเต็มสภา
  15. ญัตติขอให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี
  16. ญัตติที่ประธานอนุญาตตามที่เห็นสมควร

ส่วนในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2551 ได้กำหนดญัตติที่ไม่ต้องเสนอเป็นหนังสือ อยู่ในข้อ 40 ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับข้อกำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2551

อย่างไรก็ตาม ญัตตินั้นอาจตกไปหากที่ประชุมลงมติให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษาหรือพิจารณาทำให้ญัตติเดิมตกไป หรือกรณีผู้เสนอญัตติ ผู้รับรองญัตติไม่ชี้แจงในที่ประชุม ไม่อยู่ในที่ประชุมโดยไม่มีผู้รับมอบหมาย ก็ทำให้ญัตติตกเช่นเดียวกัน

อ่าน : โหวตนายกฯ รอบ 2 : "วิทยา - วราวุธ" เห็นพ้อง ชี้ "พิธา" ถูกตีตกนั่งนายกฯแล้วไม่ควรเสนอซ้ำ

การเสนอญัตติและการรับรองญัตติ

การเสนอญัตติและการรับรองญัตติ จะต้องกระทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2551 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2551 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะ

ผู้มีสิทธิเสนอญัตติ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี

จำนวนผู้เสนอญัตติ การเสนอญัตติใดๆ สามารถเสนอได้โดยผู้เสนอญัตติ 1 คนขึ้นไป แต่บางญัตติมีการกำหนดจำนวนผู้เสนอญัตติไว้ว่าจะต้องมีจำนวนเท่าไรเป็นอย่างน้อย เช่น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จึงมีสิทธิเสนอญัตตินี้ได้

หรือญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงมีสิทธิเสนอญัตติดังกล่าวได้ เป็นต้น

ผู้รับรองญัตติ โดยทั่วไปนั้น การเสนอญัตติเพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณาจะต้องมีผู้รับรองญัตติ การรับรองญัตติเป็นการแสดงว่ามีผู้สนใจและต้องการให้มีการพิจารณาญัตตินั้น

สมาชิกสภาทุกคนเป็นผู้มีสิทธิรับรองญัตติซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้เสนอได้ การเสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาโดยทั่วไปจะกำหนดให้มีผู้รับรองญัตติไม่น้อยกว่า 5 คน เว้นแต่ถ้ามีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมสภากำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัตินั้น

เช่น ญัตติขอให้สภามีมติให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมสภา ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2551 กำหนดให้มีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน หรือญัตติขอให้วุฒิสภามีมติให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมวุฒิสภา ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2551 กำหนดให้มีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน

อ่าน : โหวตนายกฯ รอบ 2 : "สุทิน" ลุ้นตีความข้อบังคับ 41 ชงชื่อ "พิธา"

นอกจากนี้ ข้อบังคับการประชุมสภาได้กำหนดประเภทของญัตติที่ไม่ต้องมีผู้รับรองญัตติ เช่น ญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หรือญัตติที่ต้องใช้สมาชิกจำนวนมากร่วม ลงชื่อเสนอ เช่น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติ เป็นต้น

ญัตติที่เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น ส่วนญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ

ทั้งนี้จาก "ญัตติ" ที่ถูกกำหนดในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจะเห็นว่า

ไม่มีการระบุถึงญัตติที่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 และมาตรา 272 วรรคหนึ่ง

ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือนายกฯ คนนอกเท่านั้นที่ต้องเสนอเป็นญัตติ และเมื่อเปิดดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในหมวดที่ 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ ก็ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าต้องเสนอเป็นญัตติเช่นเดียวกับญัตติอื่นๆ ที่ระบุในข้อบังคับหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการเสนอญัตติเลย

จึงมีแต่การเสนอญัตติเสนอนายกฯ คนนอก เท่านั้นที่ถือว่าเป็นญัตติที่จะเสนอซ้ำไม่ได้

แต่การเสนอชื่อนายกฯ โดยวิธีการปกติจะเสนอชื่อเดิมซ้ำโหวตกี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่

ที่มา : สถาบันพระปกเกล้า, iLAW

ดูถ่ายทอดสด โหวตนายกฯ รอบ 2 ที่นี่

ติดตามผลคะแนนโหวตได้ที่ www.thaipbs.or.th/election66

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง