อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 1.34 นาที ขณะพลายงางอน ช้างป่า ลงเล่นน้ำ พร้อมโชว์ความน่ารัก ชูงวง พ่นน้ำ ล้มตัวนอนในน้ำอย่างสบายใจ โดยมีเสียงเจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้าง พูดคุยกันว่า "งางอนสบายใจแล้วได้ลงเล่นน้ำ แววตาเขายิ้ม ขอโทษนะเมื่อกี้ขัดใจไม่ให้ออกนอกป่า"
พลายงางอนเข้ามาในชุมชน แวะกินพืชผลเกษตร
ก่อนหน้าจะปรากฏภาพลงเล่นน้ำอย่างสบายใจ "พลายงางอน" ถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันออกจากชุมชนพื้นที่หมู่ 15 ต.หนองปรือ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี (บ้านเขาสน) กลับเข้าป่า ต้องเดินระยะทาง 5 กิโลเมตร อาจเหนื่อยล้า จึงแวะลงเล่นน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ง้อพ่อพลาย ปล่อยให้เล่นน้ำอย่างสบายใจจนอารมณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นายพิเชษฐ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า พลายงางอน เป็นช้างวัยรุ่น อายุ 19-20 ปี นิสัยไม่ดุร้าย ลักษณะของงาโค้งงอนตามชื่อที่ถูกตั้ง เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งข้ามจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเข้ามาในเขตชุมชนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน โดยแวะมาช่วงเย็นจนถึงเวลา 02.00 น.ของทุกวัน กินกล้วย อ้อย มันสำปะหลังตามเส้นทางผ่าน และนอนพักก่อนเข้าป่า คาดว่าเป็นการสำรวจอาณาเขตถิ่นอาศัย และอาจตามฝูงช้างมาเพิ่มเติมในอนาคต
เจ้าหน้าที่ผลักดันพลายงางอนเข้าป่า
นายพิเชษฐ กล่าวว่า แม้ช้างป่าตัวนี้ไม่มีประวัติทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือชาวบ้าน แต่อุทยานฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้เว้นระยะห่าง อย่าเข้าใกล้ช้างป่า อย่าทำร้ายช้าง อย่าจุดประทัดไล่ หรือกระตุ้นให้เกิดความเครียด หากพบตัวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อความปลอดภัยของคนและช้างป่า ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและเอ็นดูพลายงางอน
เขากินพืชผลไม่มากนัก ชาวบ้านก็ยังเอ็นดูเห็นว่าน่ารัก แต่ต้องแจ้งว่าเขาคือช้างป่า ไม่อยากให้อยู่ใกล้มาก
ขณะนี้เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันพลายงางอน ให้ค่อย ๆ ขยับเข้าป่าสลักพระ ซึ่งห่างจากจุดชุมชนบ้านเขาสน ประมาณ 30 กิโลเมตร และล่าสุดได้ทำหนังสือไปยังสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อติดปลอกคอ GPS ให้พลายงางอน ติดตามเส้นทางเดินของช้าง เฝ้าระวังไม่ให้เข้าใกล้ชุมชน ซึ่งบางครั้งพลายงางอนก็จะหลอกเจ้าหน้าที่ว่าเดินขึ้นเขาแล้ว แต่วนกลับมาเข้าชุมชน
พลายงางอนชูงวง เล่นน้ำสบายใจ
ทั้งนี้ ในพื้นที่อุทยานฯ เฉลิมรัตนโกสินทร์ มีช้างป่าประมาณ 10 ตัว ข้ามไป-มาระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และอุทยานฯ เฉลิมรัตนโกสินทร์ แต่มีเพียงพลายงางอนที่เริ่มเข้ามาในชุมชน