เมื่อพูดถึงเกม หลายคนอาจจะนึกถึงความสนุกสนานที่มาพร้อมกับการแข่งขัน การต่อสู้ หรือการไขปริศนาบางอย่าง แต่เกมซิตีส์: สกายไลน์ (Cities: Skyline) ที่ถูกสร้างโดยค่ายเกมที่มีชื่อว่า Colossal Order และจัดจำหน่ายโดยบริษัท Paradox Interactive จัดว่าเป็นเกมที่พาผู้เล่นเดินทางไปไกลกว่านั้นมาก
ซิตีส์: สกายไลน์ เป็นเกมแนวสร้างและบริหารจัดการเมือง วางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 ในตอนนั้นหลายคนมองว่าเกมอย่างซิตีส์: สกายไลน์ ที่เป็นเกมน้องใหม่ อาจไม่มีทางแจ้งเกิดได้เพราะไม่อาจเทียบกระแสความนิยมได้เท่าเกม ซิมซิตี (Sim City) ที่ครองตลาดเกมแนวสร้างและบริหารจัดการเมืองมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบการนำเสนอ ความสมจริง และการเปิดให้ผู้เล่นและนักพัฒนาสามารถพัฒนาส่วนเสริมของเกม หรือปรับแต่งการทำงานของเกม (Mod) ได้อย่างอิสระจนเกิดเป็นชุมชนผู้รักและหลงใหลในอิสระของซิตีส์: สกายไลน์ ก็พาให้เกมดังกล่าวได้รับความนิยมสูงขึ้น และมีรายได้สะสมมากถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 7,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และมีส่วนเสริมของเกมหรือ DLC (DownLoadable Content) ต่าง ๆ ออกมาเติมสีสันให้กับผู้เล่นมากกว่า 30 ชุด
ซิตีส์: สกายไลน์ ให้เรารับบทเป็นผู้ดูแลเมืองที่เราสร้างขึ้นมาเอง โดยที่เราต้องเลือกภูมิประเทศที่ตัวเกมมีให้ หรืออาจเลือกจากส่วนเสริมที่ชุมชนผู้เล่นเกมดังกล่าวนำมาแบ่งปันกันผ่านโลกออนไลน์ จากนั้นก็ลงมือออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน สายถนน ทางด่วน การขนส่งสาธารณะ ระบบไฟฟ้า และประปา เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรในเมือง ในขณะที่อุปสรรคอย่างการจราจรที่ติดขัด ความต้องการด้านพลังงาน หรืออัตราการว่างงาน ก็จะค่อย ๆ เผยออกมาทีละนิดเพื่อสะท้อนการออกแบบเมืองของผู้เล่น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ จะส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อกัน อัตราการว่างงานอาจส่งผลให้อัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น หรือ อัตราการรู้หนังสือและอ่านออกเขียนได้ อาจส่งผลต่อรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มสูงขึ้น
สุดท้ายแล้วเกมนี้ไม่มีปลายทาง จะมีก็แต่ผู้เล่นจะต้องจัดการกับปัญหาที่เรื้อรังมากขึ้น ผู้เล่นอาจประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับทักษะการแก้ไขปัญหา ที่ดูแล้วก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนที่ชัดเจนของโลกแห่งความเป็นจริงที่ปัญหาต่าง ๆ นั้นถูกผูกปมเข้าด้วยกันอย่างซับซ้อน
นิตยสารและสื่อออนไลน์ด้านเทคโนโลยีหัวใหญ่ของโลกอย่าง Wired ยังเคยยกย่องซิตีส์: สกายไลน์ ว่าเป็นเกมแนวสร้างเมืองที่ใกล้กับคำว่าสมบูรณ์แบบมากที่สุด
ชุมชนผู้เล่นเกมคือปัจจัยที่ส่งผลให้ซิตีส์: สกายไลน์ ประสบความสำเร็จ
เราอาจถอดบทเรียนความสำเร็จของซิตีส์: สกายไลน์ ได้ผ่านการมองการเกิดขึ้นของชุมชนผู้เล่นเกม ยิ่งเกมใดสามารถสร้างชุมชนผู้เล่นเป็นของตัวเองได้มากเท่าไร โอกาสในการประสบความสำเร็จก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ปัจจุบัน ซิตีส์: สกายไลน์ มีจำนวนของชิ้นงาน (Workshop) การดัดแปลง (Mod) หรือวัตถุในเกม (Assets) ที่ชุมชนผู้เล่น นำมาแบ่งปันร่วมกันมากกว่า 100,000 ชิ้น ส่งผลให้การเล่นเกมซิตีส์: สกายไลน์ ไม่ได้เป็นแค่การเล่นเกมที่ผู้พัฒนาออกแบบมาเพียงเท่านั้น แต่เป็นการส่งต่อและแบ่งปันไอเดีย เพื่อสร้างโลกเสมือนของตัวเองขึ้นมา
ชุมชนผู้เล่นเกมซิตีส์: สกายไลน์ ยังมีการแบ่งย่อยออกไปตามวัตถุประสงค์ เช่น กลุ่มผู้เล่นที่ชื่นชอบการสร้างเมืองให้เสมือนจริงที่สุด (Realism) เน้นการสร้างเมืองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองจริง ๆ ในโลก เช่น โตเกียว มิลาน นิวยอร์ก หรือเมืองสำคัญอื่น ๆ ในโลก หรือกลุ่มผู้เล่นที่แข่งขันเพิ่มจำนวนประชากรในเวลาอันรวดเร็ว (Speedplay) หรือบางกลุ่มที่เน้นเล่นแนวตลก เสียดสี เช่นการทำให้ประชากรเกิดความอดอยากมากที่สุด แต่ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตาม พวกเขาเหล่านี้มักจะมีการอัดคลิปการเล่นเกมในรูปแบบของตนเองมาเผยแพร่บนสังคมออนไลน์
ผู้เล่นที่ใช้ชื่อว่า Palm'sTime เป็นอีกหนึ่งในผู้เล่น เกมซิตีส์: สกายไลน์ ชาวไทยที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกและได้ร่วมงานกับผู้พัฒนาเกมหลายครั้ง ผลงานของ Palm'sTime เช่น การสร้างวัตถุในเกมตามบริบทไทย (ถนน อาคารบ้านเรือน ไปจนถึงศาลพระภูมิ) การสร้างเมืองที่ได้รับแรงบันดาลมาจากภาคเหนือของประเทศไทย การสร้างเมืองที่ซับซ้อนโดยอิงจากเมืองโกเบในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้มีการเข้าชมบนช่องยูทูบ (YouTube) รวมมากกว่า 4 ล้านครั้ง
อนาคตของซิตีส์: สกายไลน์
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 ผู้พัฒนาเกมได้ออกมาเปิดเผยถึงเนื้อหาภายในเกมซิตีส์: สกายไลน์ ภาคที่ 2 ซึ่งจะเป็นการนำเอาลักษณะการเล่นเกมแบบเดิมมาปรับปรุงให้สมจริงมากขึ้น เช่น การมีปัญญาประดิษฐ์ที่มีกระบวนการคิดซับซ้อนกว่าเดิมและอาจสร้างปัญหาใหม่ ๆ ให้กับผู้เล่น เช่น ประชากรอาจขับรถฝ่าฝืนกฎจราจรหากการออกแบบถนนนั้นไม่ตอบโจทย์ต่อการเดินทาง หรือความปลอดภัยบนท้องถนนอาจส่งผลต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ก็จะส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ไปยังพัฒนาการของเมือง
เกมซิตีส์: สกายไลน์ ภาค 2 จะถูกวางจำหน่ายในวันที่ 24 ตุลาคม 2023 เพื่อสานต่อโลกแห่งจินตนาการที่ไม่มีสิ้นสุดของชุมชนนักเล่นเกมเหล่านี้ และที่สำคัญคือการเป็นเครื่องมือสะท้อนที่ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองบนโลกแห่งความเป็นจริง
ที่มาข้อมูล: wired
ที่มาภาพ: Palm’sTime
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech