วันนี้ (23 ก.ค.2566) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานบรรยากาศการเปิดคูหาเลือกตั้งในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่เวลา 07.00 น. พบว่าเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่จะเป็นจุดที่ "ฮุน มาเนต" บุตรชายของสมเด็จฮุน เซน เดินทางมาใช้สิทธิ
ไม่ใช่แค่ชาวกัมพูชาเท่านั้นที่ทยอยเดินทางมาใช้สิทธิที่คูหาเลือกตั้ง แต่บรรดาผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกก็เดินทางมารอเก็บภาพที่หน่วยเลือกตั้งด้วยเช่นกัน หลังจาก "ฮุน มาเนต" เดินทางมาใช้สิทธิในช่วงเช้า
ฮุน มาเนต บุตรชายของสมเด็จฮุน เซน เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง
การเลือกตั้งรอบนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บุตรชายคนโตของสมเด็จฮุน เซน ลงชิงเก้าอี้ในสภา เพื่อปูทางสู่การนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านอำนาจนี้อาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือน ส.ค. หลังจากสมเด็จฮุน เซน ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า บุตรชายสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใน 3-4 สัปดาห์หลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารประเทศ
ขณะที่ฮัง พูเทีย โฆษก กกต.กัมพูชา ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งมากกว่า 28,000 แห่งทั่วประเทศจะราบรื่น และอุปสรรคเพียงหนึ่งเดียวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือเรื่องสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ
นอกจากนี้ กัมพูชายังกลบกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใส ด้วยการเชิญผู้แทนต่างชาติมากกว่า 600 คนจาก 24 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย
ชาวกัมพูชาใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงพนมเปญ
ขณะที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งมีอยู่ประมาณ 25 คน เป็นอาสาสมัครของศูนย์สังเกตการณ์ของคณะกรรมการเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมในกัมพูชา หรือ คอมเฟรล นักศึกษาทั้งหมดจะทำหน้าที่ประสานงาน รับเรื่องร้องเรียนและให้ความรู้กับบรรดาผู้สังเกตการณ์ของคอมเฟรล ที่มีอยู่ประมาณ 4,900 คนทั่วประเทศ
มา ไซนา นักศึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง วัย 22 ปี กล่าวว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เธอได้ลองมาทำงานแบบนี้ ซึ่งทำมาแล้ว 3 วัน แต่ได้รับประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะการได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองในประเทศ ซึ่งจุดนี้เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวอาสามาทำงานนี้
อาสาสมัครของศูนย์สังเกตการณ์การเลือกตั้งในกัมพูชา
งานของนักสังเกตการณ์และอาสาสมัครกลุ่มนี้ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้งและหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งในช่วง 21 วันที่ผ่านมา ทางกลุ่มพบรายงานความผิดปกติในระหว่างการหาเสียงแล้วหลายกรณี เช่น พรรคการเมืองใช้รถของทางราชการหาเสียง และการจ่ายเงินเพื่อให้คนมาร่วมกิจกรรมของพรรค
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจับตามองในวันนี้ (23 ก.ค.) คือจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ รวมถึงจำนวนบัตรเสีย เพราะก่อนหน้านี้ สม รังสี และฝ่ายค้านบางคน ออกมารณรงค์ให้ชาวกัมพูชางดใช้สิทธิหรือกาบัตรให้เสีย ซึ่งถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านพรรครัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง