วันนี้ 24 ก.ค.2566 นายสมชาย แสวงการ สว. ในฐานะที่ปรึกษาวิปวุฒิ ให้สัมภาษณ์กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาขอให้วินิจฉัย กรณีที่ประชุมรัฐสภาลงมติข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เป็นเกณฑ์เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ที่ถูกตีตกซ้ำ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เป็นการกระทบสิทธิและขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่าจะมีผลต่อการเลื่อนโหวตนายกฯ ตามที่นัดหมายวันที่ 27 ก.ค.นี้ หรือไม่ ว่า สว.ไม่ขัดข้องที่จะเลื่อนวาระเลือกนายกฯ วันที่ 27 ก.ค.ออกไป
เพราะตนเคยให้ความเห็นแล้วว่า การกำหนดวันประชุมรัฐสภา ในวันดังกล่าวอาจจะกระทบการปฏิบัติภารกิจของ สส. และ สว. ที่ต้องร่วมกิจกรรมในพื้นที่ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 10 ดังนั้นหากการโหวตหรือการพิจารณายืดเยื้ออาจจะกระทบการเดินทางได้ และหากจะเลื่อนตนมองว่า เลื่อนไปเล็กน้อย คือ วันที่ 3 ส.ค.นัดประชุมใหม่ สามารถทำได้และไม่ล่าช้าเกินไป
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับการเลื่อนวาระนั้น ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 5 สามารถทำได้ โดยอำนาจของประธานรัฐสภา ซึ่งเคยใช้ในกรณีที่เคยมีการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว เพราะมีเหตุให้เลื่อนได้ หรือหากประธานรัฐสภาไม่ใช้อำนาจ สามารถปรึกษาหารือกับวิป3 ฝ่ายที่นัดประชุมวันที่ 26 ก.ค.นี้ก่อนได้
นายสมชาย กล่าวถึงกรณีที่คำร้องของผู้ตรวจการฯ ที่แนบให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดการเลือกนายกฯไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า เป็นเหตุที่จะทำให้เลื่อนการประชุมได้ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา เช่น ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิธา ขณะนั้น การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯรอบ2 ไม่ได้เลื่อนออกไป ดังนั้นหากเทียบเคียงการประชุมอาจจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งก็ได้หรือจะใช้เป็นเหตุให้เลื่อนออกไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งก็ได้
ในกระบวนการยื่นเรื่องนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจรับเรื่องไว้พิจารณาสัปดาห์นี้ไม่ทัน และสัปดาห์หน้าตามการประชุมสัปดาห์ยังเป็นวันหยุดยาว ดังนั้นศาลฯอาจพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป และกระบวนการพิจารณาเป็นเรื่องทางกฎหมายอาจใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
26 ก.ค.นี้ “วันนอร์” นัดถกวิป 3 ฝ่าย เลื่อนโหวตนายกฯ
มติผู้ตรวจฯ ยื่นศาล รธน. ชะลอโหวตนายกฯ รอบ 3 รอชี้ขาดปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ
“ก้าวไกล” ประชุม สส. ยืนยันไม่ร่วมรัฐบาล “พปชร.-รทสช.”
อาจารย์นิติศาสตร์ 19 สถาบัน ร้องยกเลิกมติ "ข้อบังคับ" ใหญ่กว่า "รธน."