ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“คอมพิวเตอร์” ที่ทรงพลังมากขึ้น จำเป็นต่อมนุษยชาติอย่างไร ?

Logo Thai PBS
“คอมพิวเตอร์” ที่ทรงพลังมากขึ้น จำเป็นต่อมนุษยชาติอย่างไร ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่งผลให้มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีไปข้างหน้า การที่มนุษยชาติสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังช่วยให้โจทย์ที่ท้าทายถูกแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว

หากจะพูดถึงนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คอมพิวเตอร์ น่าจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ผู้คนยกย่อง หลักจากที่มนุษย์ได้รู้จักกับคอมพิวเตอร์ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การใช้งานโดยกองทัพในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดเรื่อยมาจนถึงยุคที่คอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องใช้ประจำตัวที่เราต้องพกติดตัวอยู่ตลอดในรูปแบบของโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งการสวมใส่คอมพิวเตอร์บนร่างกาย ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นทวีคูณ เราอาจมองผลดังกล่าวเป็นข้อดีในเชิงปัจเจกบุคคล แต่หากเรามองลึกไปยังประวัติศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ การที่คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นส่งผลกระทบโดยรวมต่อพัฒนาการของมนุษยชาติ

ในยุคแรกเริ่มมนุษย์เริ่มมีการพัฒนาตรรกะ คณิตศาสตร์ และเหตุผล เพื่อใช้ในการสร้างองค์ความรู้ ในขณะเดียวกัน การจดบันทึก การพิมพ์ การเขียนหนังสือ ก็ช่วยให้องค์ความรู้ของมนุษยชาติยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่มนุษย์เองกลับมีข้อจำกัดด้านการทำงานที่ซ้ำซาก หรืออาจเกิดข้อผิดพลาดที่ยากจะตรวจสอบ เช่น หากต้องหารหาทศนิยมลำดับที่ 100,000 ของค่าไพ (Pi) ซึ่งเกิดจากการนำ 22 หารด้วย 7 ไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นการคำนวณด้วยมือบนกระดาษอาจต้องใช้เวลานานหลายปี และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นระหว่างนั้นก็ไม่อาจมีใครทราบได้เลย ปัญหาของมนุษยชาติหลายปัญหานั้นซับซ้อนกว่าการหาค่าไพมาก ในอดีตมีการรวบรวมกลุ่มคนมาคิดคำนวณโจทย์ต่าง ๆ และเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “คณิตกร” เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

จนเมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์เครื่องคำนวณจากการสังเกตธรรมชาติ และแทนค่าสถานะ (State) ของสิ่งที่เป็นนามธรรมลงในวัตถุที่เป็นรูปธรรม จนสุดท้ายเกิดเป็นคอมพิวเตอร์ขึ้น และเมื่อมนุษย์ค้นพบคุณสมบัติของธาตุกึ่งตัวนำว่าเหมาะสมแก่การนำมาใช้เป็นเครื่องแทนการทำงานอันเป็นนามธรรมนี้ ก็ทำให้เกิดการพัฒนาชิป (Chip) และวงจรรวม (Integrated Circuit) และเป็นสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 1965 นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) เคยเสนอแนวคิดว่า จำนวนของทรานซิสเตอร์ (Transistor) บนชิปจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก ๆ ปี เราเรียกวิธีคิดดังกล่าวว่ากฎของมัวร์ (Moore’s Law) แม้ปัจจุบัน นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ยุคใหม่จะเชื่อว่ากฎของมัวร์ อาจไม่เป็นจริงเสมอไปเมื่อเทคโนโลยีเดินทางมาถึงข้อจำกัดทางฟิสิกส์ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนของทรานซิสเตอร์เข้าไปในตัวชิปได้อีกแล้ว แต่สุดท้ายโลกก็เริ่มเรียนรู้และค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเพิ่มความสามารถในการประมวลผลให้กับคอมพิวเตอร์ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ที่ออกแบบโดยกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Computer) แต่หากถอยหลังกลับมาดู แนวคิดของมัวร์ โดยรวมพยายามจะบอกเราว่ายิ่งนับวันคอมพิวเตอร์จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal) มีประสิทธิภาพมากกว่าคอมพิวเตอร์ทางการทหารในยุคแรกเริ่มหลายล้านเท่า ในขณะที่คอมพิวเตอร์ระดับสูงอย่างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) ก็ยังถูกพัฒนาต่อไปราวกับว่ามนุษย์ไม่เคยพึงพอใจในประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์

โลกนี้ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ และมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงอาจเป็นข้อสรุปของคำถามว่าทำไมเราถึงยังต้องพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การรับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งตอนนอนหลับ ก็ยังจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งในระดับการตั้งนาฬิกาปลุก ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมโรงไฟฟ้า หรือการประมวลผลที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นโลกเหนือจริง หรือเมทา (Meta) ให้กับมนุษย์ แทบไม่มีช่วงเวลาใดในชีวิตเลยที่มนุษย์ไม่พึ่งพาคอมพิวเตอร์

นักวิทยาศาสตร์ แม็กซ์ เท็กมาร์ค (Max Tegmark) อธิบายการพึ่งพาเทคโนโลยีของมนุษย์ในลักษณะดังกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Life 3.0 เท็กมาร์คเสนอว่า เราอาจแบ่งความซับซ้อนของชีวิตได้ 3 ระดับ ได้แก่ระดับชีววิทยา (Biological) ระดับสังคมวิทยา (Cultural) และระดับเทคโนโลยี (Technological) ในระดับชีววิทยาคือการที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางชีววิทยา การสร้างพลังงานจากอาหาร การสืบพันธุ์ ส่วนในระดับสังคมวิทยาหมายถึงการที่มนุษย์สร้างวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยมขึ้นมา และในระดับสุดท้ายที่เท็กมาร์คเชื่อว่าเรากำลังเดินทางไปนั้น คือชีวิตที่หลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีที่เข้ามาทลายขีดจำกัดด้านการใช้ชีวิต

หากเราผนวกรวมเอาแนวคิดของทั้งเท็กมาร์คและมัวร์เข้าด้วยกัน เราจะเห็นภาพสะท้อนของความจริงว่าในปัจจุบันมนุษย์พึ่งพาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มากเพียงใด และสิ่งนี้เองก็อาจนำมาซึ่งความต้องการอันไม่มีสิ้นสุดที่มีปลายทางเป็นการหลอมรวมเอาชีวิตทั้ง 3 ระดับเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ และตอบคำถามว่าทำไมคอมพิวเตอร์จึงสำคัญกับมนุษยชาติมหาศาล

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง