โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลแบบลายพิมพ์นิ้วมือ และภาพถ่ายใบหน้า หรือ ไบโอเมตริกซ์ หนึ่งในโครงการ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่จะพัฒนาระบบและเฝ้าระวังบุคคลตามหมายจับ ที่จะเดินทางเข้าออกในประเทศไทยตามมาตรฐานสากล
โครงการนี้ เกิดขึ้นสมัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขออนุมัติงบประมาณกว่า 2,100 ล้านบาท โดยมีสำนักงานส่งกำลังบำรุง ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อปี 2560 มีบริษัท เอ็ม เอส ซี สิทธิพล จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล แบ่งการส่งงานเป็น 6 งวด แต่บริษัท ล่าช้า ไม่ส่งมอบงาน และไม่เป็นไปตามสัญญา
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ขณะที่อยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบความผิดปกติของสัญญานี้ เพราะมีการของบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านบาท แต่ระบบไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามแผนงาน ก่อนจะมาเป็นพยานในคดี และนำหลักฐานมาให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ไต่สวน เมื่อเดือนมกราคม 2563 หลังถูกสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรี
เมื่อใช้งบประมาณขนาดนี้ เดิมงบประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาท ต่อมาผู้มีอำนาจขยายไปถึงกว่า 2,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณของ สตม. แต่ให้โอนงบไปส่วนกลาง แต่ผมไม่รู้เรื่อง
เมื่อมาอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็พบว่า การส่งงานงวดที่ 1 ล่าช้าไปกว่า 100 วัน งวดที่ 2 ส่งงานไปล่าช้าอีกกว่า 200 วัน งวดที่ 3 งวดที่ 4 ส่งงานไม่ได้ ถ้าท่านเป็นผมจะให้ผมทำอย่างไร?
ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าหน่วย เครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่มีใช้ สมัยก่อนผมจับคนร้ายทุกวัน เพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วระบบก็ทำงานไม่ได้ มันเชื่อมต่อไม่ได้ เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลบอกเลิกสัญญาทั้งสิ้น” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว (วันที่ 10 ม.ค.2563)
ผ่านมากว่า 3 ปี ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และพวกรวม 13 คน มีทั้งตำรวจและบริษัทเอกชน
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า แต่ละคนจะถูกแจ้งข้อหาตามบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมี 6 ประเด็นหลัก คือ
1.การกำหนดขอบเขตงานโดยตัดคุณสมบัติของผู้เสนอราคา
2.การจัดซื้อโดยใช้วิธีพิเศษที่มิชอบ
3.การตรวจรับงานในงวดที่ 3 ไม่เป็นไปตามสัญญา
4.การไม่ยกเลิกสัญญา และไม่เรียกค่าปรับ
5.การแก้ไขกำหนดส่งมอบงานในงวที่ 4 และ 5
6.คณะกรรมการตรวจรับพัสดุงวดที่ 4 ถึง 6 ตรวจรับไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
โดยจะส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนที่จะให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงต่อคณะกรรมการ และจะสรุปสำนวนการไต่สวนเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาชี้มูลความผิดอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ที่มีปัญหากลุ่มทุนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายในไทย ทำให้มีคำถามถึงระบบตรวจจับไบโอเมตริกซ์ ว่า ยังสามารถใช้การได้อยู่หรือไม่
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า ระบบดังกล่าวยังพบปัญหา เพราะไม่มีการจดจำใบหน้า ม่านตา และไม่เชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ ทำให้มีกลุ่มผู้ต้องหาจากประเทศอื่นเข้ามาในไทยได้ง่าย
ระบบไบโอเมตริกซ์ไม่ได้ตรวจจับใบหน้า ม่านตา แต่ถ้าไบโอเมตริกซ์ทำงานได้ก็จะทำให้คนร้ายเบาลง มันไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เวลาคนร้ายเข้ามาแค่เปลี่ยนชื่อก็เข้าประเทศได้แล้ว มันไม่มีการจดจำใบหน้า ม่านตา ใบหู เพราะฉะนั้นระบบเรายังล้าหลังมากๆ ทั้งที่นักท่องเที่ยวเราเข้ามาตั้งเท่าไรแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเห็นว่าระบบล้าหลังทำไมจึงซื้อเข้ามาใช้งาน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า อันนี้ต้องไปถามคนซื้อ ผมไม่ได้ซื้อ (หัวเราะ) ผมไม่ได้ซื้อ ท่านต้องถามผู้ซื้อ ผมเล่าปัญหาให้ฟัง คือ วันนี้มันต้องใช้เทคโนโลยี แล้วทุกอย่างมันต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อลดคอร์รัปชัน ถ้ามีเทคโนโลยีปัญหาต่าง ๆ มันเบาลงแน่” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว (วันที่ 19 เม.ย.2566)
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังเสนอว่า ภาครัฐควรช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยปรับปรุงระบบตรวจคนเข้าเมืองให้เป็นระบบตรวจจับอัจฉริยะ หรือ AI เพราะระบบนี้ มีความทันสมัย และสามารถจดจำใบหน้า ม่านตา ใบหู ซึ่งหลายประเทศใช้ระบบนี้ไปแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพในการคัดกรองคนเข้าประเทศได้มากขึ้น
เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน
อ่านข่าวอื่นๆ
"ทักษิณ" กลับไทย 10 ส.ค. "อิ๊งค์" โพสต์อวยพรวันเกิด 74 ปี
"ประเสริฐ" ลั่่นได้เสียงโหวตนายกฯ เพิ่มคาดฉลุย ปัดแตกคอก้าวไกล
ขึ้นฟรี กทพ.ยกเว้นค่าทางด่วน 3 สายทาง 28 ก.ค.และ 1-2 ส.ค.นี้