หลายคนคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลง เพราะรอบนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวผู้นำประเทศอย่างเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนรุ่นของผู้นำทางการเมืองครั้งใหญ่และสำคัญ ที่คงจะไม่ผิดนัก ถ้าจะพูดว่า ตอนนี้กัมพูชากำลังผลัดใบ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศแทนชนชั้นนำเดิม ซึ่งแต่ละคนอายุไม่น้อยและอยู่ในอำนาจมานานหลายสิบปีแล้ว
สมเด็จ ฮุน เซน ประกาศว่า "ฮุน มาเนต" บุตรชาย วัย 45 ปี จะเป็นนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 22 ส.ค.2566 เป็นต้นไป
ถ้าไม่ยอมเรียก ฮุน มาเนต ว่านายกรัฐมนตรี จะถือว่าทำผิดกฎหมาย
โดยผู้นำกัมพูชา มองว่าตัวเองเสียสละก้าวลงจากตำแหน่ง เพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนา
อ่าน : "ฮุน เซน" ประกาศลาออกนายกฯกัมพูชา ส่งต่อหน้าที่ "ฮุน มาเนต"
สมเด็จ ฮุน เซน วัย 70 ปี ครองอำนาจในกัมพูชามานานมากกว่า 14,000 วัน แต่การก้าวลงจากตำแหน่งในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะหายหน้าหายตาไปจากวงการทางการเมือง เพราะจะยังคงนั่งเก้าอี้ประธานพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP และเป็นสมาชิกรัฐสภาต่อไป นอกจากนี้ยังเตรียมรับตำแหน่งประธานวุฒิสภาด้วย ซึ่งจะทำให้สมเด็จ ฮุน เซน กลายเป็นผู้นำรัฐ หากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เสด็จประพาสต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา และ อดีตนายกฯ สมเด็จ ฮุน เซน
การเปลี่ยนตัวชนชั้นนำกัมพูชาในรอบนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวผู้นำเท่านั้น โดยโฆษกพรรค CPP ระบุว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะถูกเปลี่ยนเกือบยกแผง โดยร้อยละ 90 จะถูกแทนที่ด้วยคนหน้าใหม่ๆ
ขณะที่สื่อท้องถิ่นอ้างเอกสารรั่วไหลเป็นรายชื่อ ครม.ชุด ฮุน มาเนต ที่เตรียมเสนอในเดือนหน้า พบว่ามีรัฐมนตรีใหม่ 23 คน และรองนายกรัฐมนตรีในชุดปัจจุบัน 9 จาก 10 คน จะถูกเปลี่ยนตัว แต่มีรายงานว่า ครึ่งหนึ่งอาจเป็นลูกหลาน หรือสมาชิกในครอบครัวของชนชั้นนำเดิม และบางส่วนเป็นคนใกล้ชิด ฮุน มาเนต ที่ทำงานในปีกเยาวชน
จุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ อายุของ ครม.ชุดใหม่ จะอยู่ที่ระหว่าง 38-65 ปี โดยส่วนใหญ่แล้วจะเฉลี่ยอยู่ในวัย 40 ปี ซึ่งจุดนี้ทำให้บางคน มองว่า ครม.ชุดนี้อาจขาดประสบการณ์ แม้ว่าแต่ละคนจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาสูงและมีความรู้ก็ตาม
อ่าน : "No Comment" ฮุน มาเนต ตอบสื่อถามเรื่องนั่งเก้าอี้นายกฯ กัมพูชา
หลายฝ่ายกังวลความสามารถ นายกฯ คนใหม่
ยกตัวอย่าง ฮุน มาเนต แม้จะเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในฝั่งตะวันตก แต่ถ้าพูดถึงประสบการณ์ทางการเมืองก็แทบไม่มีเลย เพราะเมื่อเรียนจบกลับมา ก็เข้าทำงานในกองทัพ และแม้จะเป็นสมาชิกระดับสูงของ CPP แต่ก็ไม่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลมาก่อน และเพิ่งลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
จุดอ่อนเหล่านี้ทำให้หลายคนกังวลถึงขีดความสามารถของว่าที่ผู้นำคนใหม่ในการบริหารประเทศ รวมทั้งความเป็นอิสระทางความคิดและการดำเนินนโยบายต่างๆ หลังจากตำแหน่งของ สมเด็จ ฮุน เซน หลังกัมพูชาผลัดใบ จะยังคงเปิดทางให้เขาสามารถยื่นมือเข้ามามีบทบาทได้ แม้เขาจะยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงรัฐบาลชุดใหม่ก็ตาม
ตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่า ใครจะเข้ามาแทนที่ใครใน ครม.ชุดใหม่ แต่ถ้าดูรายชื่อของคนที่เตรียมถูกเสนอชื่อนั่งในคณะองคมนตรีกัมพูชา จะพบชื่อของ พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม กับชื่อของ ซอร์ เค็ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่ง 2 คนนี้อยู่ในอำนาจเคียงข้างสมเด็จ ฮุน เซน มาโดยตลอด
พล.อ.เตีย บัญ และ ว่าที่นายกฯ คนใหม่กัมพูชา ฮุน มาเนต
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ตำแหน่งทางการเมืองของ พล.อ.เตีย บัญ และ ซอร์ เค็ง จะถูกเปลี่ยนมือไปให้กับบุตรชายของทั้งคู่ ในการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยครั้งสำคัญของกัมพูชา ซึ่งจะเป็นการสืบทอดอำนาจต่อจากคนในครอบครัว หรือเครือข่ายชนชั้นนำด้วยกันเอง
สำหรับการจัดสรรอำนาจในรอบนี้ ผู้นำกัมพูชาต้องพยายามถ่วงดุลอิทธิพลและเครือข่ายต่างๆ ภายในพรรค เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการโยกย้ายตำแหน่ง และทำให้คนบางกลุ่มเสียผลประโยชน์ ดังนั้นเราจึงได้เห็นสมเด็จ ฮุน เซน เรียกร้องให้รัฐมนตรีที่ถูกเปลี่ยนตัวยอมเสียสละ
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคน มองว่า รายชื่อของ ครม.ชุดใหม่ น่าจะพุ่งเป้าไปที่การเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เพราะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ได้ถูกเปลี่ยนตัวออกไป
โจทย์ใหญ่ของ ฮุน มาเนต และ ครม.ชุดผลัดใบ คือ จะพิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจ และเชื่อมั่นในการบริหารประเทศได้อย่างไร แต่ตามปกติแล้ว ลูกไม้มักจะไม่ค่อยหล่นไกลต้น ต้องดูกันยาวๆ ว่าชนชั้นนำรุ่นใหม่จะยังคงเป็นตัวของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะถูกกลืนหายไปกับระบบเดิม ซึ่งก็คือครอบครัวของตัวเอง
วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวอื่น :
ไทยลีก รับฝนตกราชมังฯ หนัก เตรียมแผนเลื่อนแข่ง บุรีรัมย์-แบงค็อก