ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศูนย์จีโนมฯ ดัน "GenoWell" ตรวจพันธุกรรมกลุ่มเสี่ยงป่วย 6 โรค NCDs

สังคม
27 ก.ค. 66
13:29
333
Logo Thai PBS
 ศูนย์จีโนมฯ ดัน "GenoWell" ตรวจพันธุกรรมกลุ่มเสี่ยงป่วย 6 โรค NCDs
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ททท.-ศูนย์จีโนมฯ ดัน "GenoWell" ตรวจรหัสพันธุกรรม ส่งสัญญาณเตือนป่วย 6 โรค กลุ่ม NCDs เร่งปรับพฤติกรรมเสี่ยง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประสานขอความร่วมมือมายังศูนย์จีโนมฯ เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศในการนำเสนอภาพรวม "จีโนมเพื่อสุขภาพ" หรือ "GenoWell" ศาสตร์จีโนมิกส์ที่เกิดใหม่ รวมองค์ความรู้ด้านจีโนม (genomics) และสุขภาพที่ดี (wellness) ให้คำแนะนำด้านสุขภาพและปรับพฤติกรรมตามข้อมูลจีโนมของแต่ละบุคคล

โดยผู้ที่เข้ารับบริการจีโนมเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่ผู้ป่วย แต่เป็นผู้ที่สนใจสุขภาพของตัวเอง ต่างจากการแพทย์ทันสมัย (Good treatment) ซึ่งออกแบบสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างภูมิภาค เช่น การแพทย์แม่นยำ ( Precision medicine) ที่ใช้การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ซึ่งผู้ส่งตรวจจะเป็นแพทย์ และมีการส่งตัวอย่างจากคนไข้ในความดูแล มาถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนมหรือบางส่วน สืบค้นว่ามีการกลายพันธุ์ในยีนส่วนใด เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยและการรักษาโรคอย่างแม่นยำที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมดังกล่าวด้วย ยา, การผ่าตัด ฯลฯ

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีโนม (Genomic counsellor) ในแต่ละสาขา สามารถระบุความผันแปรทางพันธุกรรมที่จำเพาะต่อสุขภาวะ เช่น ความอยากอาหาร การชอบรับประทานหวานมาก เค็มมาก มันมาก หรือการตอบสนองต่อการออกกำลังกาย และต้องใช้การออกแบบโภชนาการส่วนบุคคล และแผนการออกกำลังกาย ที่ปรับให้เหมาะสมกับรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคล

จีโนมเพื่อสุขภาพ ยังมีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง กลุ่มโรคเอ็นซีดี (NCDs) 6 โรค คือ เบาหวาน, หลอดเลือดสมองและหัวใจ, ถุงลมโป่งพอง, มะเร็ง, ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ที่มีสาเหตุจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ทานอาหารแป้งมาก หวานมันเค็มจัด และการออกกำลังกายไม่เพียงพอ ซึ่งโรคในกลุ่มนี้จะไม่ป่วยทันที แต่จะค่อยๆ สะสมและเป็นในอนาคต

ศูนย์จีโนมฯ ระบุว่า แม้สถิติการป่วยและเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs จะสูงมากในประชากรโลก แต่เป็นกลุ่มโรคที่ป้องกันได้ เพราะพฤติกรรมเสี่ยงที่กระทำเอง ไม่ใช่โรคติดต่อ

องค์ประกอบทางพันธุกรรมที่แตกต่างของแต่ละบุคคล เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มโรคเรื้อรังได้ เราสามารถใช้ข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนม เป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs เหมือนกับเป็นสัญญาณเตือนภัย ให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามยีน เช่น เลิกการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า เพิ่มการออกกำลังกาย ลดความเครียด ลดการรับประทานแป้งและอาหารหวาน มัน เค็มจัดเกินขนาด

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs ได้มากถึงร้อยละ 80 และลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และโรคเบาหวาน ประเภทที่2 ได้ถึงร้อยละ 80 ลดการเป็นมะเร็งได้ถึงร้อยละ 40

สอดคล้องกับข้อมูลทีมวิจัยของ ศ.นพ.วิชัย เอกพลาแกร รพ.รามาธิบดี ที่สำรวจแนวโน้มความชุกโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCDs) เมื่อปี 2552, 2557, 2562, 2563 จากอาสาสมัครจำนวน 58,593 คน พบว่าหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองลงได้ประมาณร้อยละ 70 

ทั้งนี้ การปรับพฤติกรรมเสี่ยง จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านจีโนมให้คำปรึกษา ก่อนที่จะเกิดโรคหรือแสดงอาการ ต่างจากการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ กลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ที่ป่วยแล้ว โดยแพทย์จะปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม ให้ผู้ป่วยหายโดยเร็วที่สุด เช่น เลือกใช้ยามุ่งเป้า เข้าทำลายเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะ อาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง เพราะองค์ประกอบทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคลมีอิทธิพลต่อการตอบสนองต่อยาหรือการบำบัดเฉพาะอย่าง

สิ่งสำคัญ คือ ต้องสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของการใช้ข้อมูลจีโนม กับคำแนะนำด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล ต้องมีการจัดการกับข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว, จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ และการจัดเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมที่ละเอียดอ่อนอย่างรัดกุม

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ระบุอีกว่า ปัจจุบันไทยยังไม่สามารถผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมสมรรถนะสูง และไม่ได้ผลิตน้ำยาถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมใช้ภายในประเทศ แต่มีความเข้มแข็งด้านบริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ

ขณะนี้ศูนย์จีโนมฯ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนไทยหลายแห่งในการให้บริการด้าน "GenoWell" แล้ว โดยนักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมง ไปจนถึง 4 วัน เข้ารับบริการ เมื่อเดินทางมาไทยในระยะเวลาสั้นๆ ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง