ปีที่แล้วหน่วยงานของไทย ล่อซื้อและยึดลูกเสือโคร่งจากขบวนการค้าสัตว์ป่าได้ถึง 7 ตัว คือ "ขวัญ" ลูกเสือโคร่งตัวเมีย สายพันธุ์ไซบีเรีย เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566, "ต้นกล้า" ลูกเสือโคร่งตัวผู้ และ "ต้นข้าว" ลูกเสือโคร่งตัวเมีย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2565 และในวันที่ 15 พ.ย.2565 ล่อซื้อลูกเสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล 4 ตัว ต่อมาตาย 1 ตัว เหลือ 3 ข. คือ ขิง ข้าว ตัวเมีย และโขง ตัวผู้
แม้ปีนี้จะยังไม่พบผู้กระทำผิดคดีค้าเสือเพิ่มเติม แต่หน่วยงานอย่างกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังคงเฝ้าระวังเข้มข้น พร้อมเพิ่มมาตรการดูแลและจำกัดจำนวนเสือในกรงเลี้ยง
นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามแหล่งที่มาของลูกเสือโคร่งในคดี ว่าเป็นการลักลอบเพาะพันธุ์จากสถานที่ที่ได้รับอนุญาต หรือลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ อีกหนึ่งเป้าหมาย คือ การพัฒนานิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าให้เป็นที่ยอมรับของศาล หรือเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ต่อสู้ทางคดีรอบคอบรัดกุมที่สุด และป้องกันการถูกฟ้องกลับ
พยายามไล่แต่ละจุดเป้าหมาย เทียบดีเอ็นเอเสือของกลางกับเสือในกลุ่มต้องสงสัย เพราะต้องใช้เป็นหลักฐานทางคดี
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ในปีนี้ กรมอุทยานฯ มีนโยบายว่า การนำเสือมาเพาะพันธุ์จะต้องมีแผนชัดเจน ระบุวัตถุประสงค์ และต้องจำกัดจำนวน รวมถึงให้ความสำคัญกับ "เสือปลดระวาง" ต้องมีสถานที่ดูแลและรองรับอย่างเหมาะสม เพิ่มความเข้มข้นในการจำกัดจำนวนตัวเสือ ดูเรื่องสวัสดิภาพและแผนการรองรับ
ยกตัวอย่างการดูแลเสือโคร่ง ต้องมีมาตรฐานของกรงเลี้ยง ที่พักอาศัย ที่หลบนอน เฉพาะที่นอนต้องมีพื้นที่ 3X4 เมตร มีรั้วรอบขอบชิด และต้องมีสถานที่ให้เสือได้ออกมาเดินในทุก ๆ วัน
ไม่ใช่เอาลูกเสือมาทำเงิน พอเสือโตเต็มวัย เสือแก่ชราไปเรื่อย ๆ คุณปล่อยทิ้ง หรือฆ่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ คุณได้แต่เพาะลูก แล้วเสือปลดระวางเอาไปไว้ที่ไหน
ปกติเสือโตเต็มวัย อายุ 3-5 ปี จะไม่ได้ทำกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางครั้งขู่นักท่องเที่ยว ไม่ให้คนอื่นเข้าใกล้ ยิ่งเสือถูกใช้งานมากก็ยิ่งเกิดความเครียดสูง จึงต้องจำกัดชั่วโมงทำกิจกรรมไม่ควร 1 ชั่วโมง หรือไม่ควรทำกิจกรรมเหล่านี้
ใช้งานหนัก "เสือ" ยิ่งเครียด
สำหรับแผนจัดการเสือโคร่งในกรงเลี้ยง จะช่วยควบคุมการนำลูกเสือมาใช้งาน หรือทำกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งป้อนนม ถ่ายรูป หรือการฝึกให้แสดงโชว์ ซึ่งกิจการลักษณนี้จะถูกจำกัดเรื่อย ๆ เพราะเป็นเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ การนำมาใช้ประโยชน์ต้องคำนึงว่าสัตว์ต้องได้พักด้วย ไม่ใช่เอามาถ่ายรูปทั้งวัน สร้างความเครียดให้สัตว์ ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนในอดีตที่นำเสือ สิงโต มาแสดงลอดบ่วงไฟ หรือล่ามโซ่ไว้
เสือในกรงเลี้ยง ต้องได้รับการดูแลในพื้นที่เหมาะสม ต้องมีพื้นที่ที่ได้ออกมาเดิน ลับเล็บในทุกวัน ทุกตัวต้องมีโอกาสนี้
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ตั้งเป้าจำกัดจำนวนเสือในสวนสัตว์แต่ละแห่งไม่ควรเกิน 50 ตัว โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ยอมรับว่าสวนสัตว์หลายแห่งต้องใช้เวลาปรับตัว และหาพื้นที่รองรับเสือปลดระวาง ขณะนี้มีสวนสัตว์ประมาณ 10 แห่ง ที่มีจำนวนเสือเกิน 100 ตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัปเดตชีวิต "พี่ขวัญ" และ "น้อง 3 ข." ลูกเสือโคร่งของกลางบึงฉวาก
"เสือโคร่ง" ในป่าไทยเพิ่มเป็น 148-189 ตัว เร่งฟื้นฟูเหยื่อ-ถิ่นอาศัย