ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมศิลป์ตรวจ "โครงกระดูกมนุษย์" สนามกีฬานครฯ คาดอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์

Logo Thai PBS
กรมศิลป์ตรวจ "โครงกระดูกมนุษย์" สนามกีฬานครฯ คาดอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมศิลปากร ส่งนักโบราณคดีตรวจสอบ "โครงกระดูกมนุษย์" ที่สนามกีฬา อบจ.นครศรีธรรมราช คาดโครงกระดูกมีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์

วันนี้ (31 ก.ค.2566) นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีการขุดพบกระดูกมนุษย์ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโดยรอบสนามฟุตบอล 2 สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (ชาติตระการโกศล) อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2566 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช จึงส่งนักโบราณคดีเข้าตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้รับเหมาก่อสร้าง

จนท.กรมศิลปากรตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์

จนท.กรมศิลปากรตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์

จนท.กรมศิลปากรตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์

จากการตรวจสอบพบว่า มีการขุดดินเป็นแนวยาวบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของสนามฟุตบอล 2 เป็นระยะทางประมาณ 150 เมตร กว้างประมาณ 1.80 เมตร ลึกประมาณ 1.20 เมตร จำนวน 2 แนว เพื่อก่อสร้างรางระบายน้ำ ซึ่งการสอบถามกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง และสำรวจบริเวณที่ขุดพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์จำนวน 7 จุด (เคลื่อนย้ายหลักฐานออกไปก่อนการเข้าตรวจสอบจำนวน 3 จุด) และร่องรอยสิ่งก่อสร้างก่อด้วยอิฐ จำนวน 8 จุด

ร่องรอยสิ่งก่อสร้างก่อด้วยอิฐ

ร่องรอยสิ่งก่อสร้างก่อด้วยอิฐ

ร่องรอยสิ่งก่อสร้างก่อด้วยอิฐ

จุดที่พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ทั้ง 7 จุด มีระยะห่างกันตั้งแต่ 12-30 เมตร ส่วนใหญ่มีร่องรอยขุดตัดจากการขุดแนวท่อระบายน้ำ หลักฐานที่คงเหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนกระดูกรยางค์ ได้แก่ กระดูกปลายแขนด้านใน (Ulna) กระดูกปลายแขนด้านนอก (Radius) กระดูกนิ้วมือ (Phalanges) กระดูกต้นขา (Femur) กระดูกหน้าแข้ง (Tibia) กระดูกน่อง (Fibula) และกระดูกแกนกลาง ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar vertebrae) กระดูกกระเบนเหน็บ (Sacrum)

โครงกระดูกมนุษย์ที่พบภายในสนามกีฬาฯ นครศรีธรรมราช

โครงกระดูกมนุษย์ที่พบภายในสนามกีฬาฯ นครศรีธรรมราช

โครงกระดูกมนุษย์ที่พบภายในสนามกีฬาฯ นครศรีธรรมราช

สภาพกระดูกค่อนข้างเปื่อยจากความชื้นภายในดิน ชิ้นส่วนกระดูกวางเรียงตัวในระเบียบทางกายวิภาค บริเวณโดยรอบโครงกระดูกหลายจุดพบว่า มีแนววัสดุคล้ายปูน ความหนาประมาณ 2-5 เซนติเมตร ล้อมเป็นกรอบรอบโครงกระดูก สันนิษฐานว่าเป็นหลุมฝังศพที่จงใจฝังตามพิธีกรรมในศาสนา แต่เนื่องจากไม่พบโบราณวัตถุที่สามารถบ่งชี้อายุสมัยได้ในบริเวณจุดที่พบโครงกระดูก จึงระบุได้เบื้องต้นตามลักษณะการฝัง และประวัติพื้นที่ว่าโครงกระดูกที่พบคงมีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์

จนท.ตรวจสอบโดยรอบพื้นที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์

จนท.ตรวจสอบโดยรอบพื้นที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์

จนท.ตรวจสอบโดยรอบพื้นที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์

สำหรับจุดที่พบแนวอิฐก่อ จำนวน 8 จุด มีทั้งแนวอิฐที่เรียงตัวกับเป็นผืนในแนวระนาบ ลึกจากผิวดินประมาณ 50 เซนติเมตร บางแห่งพบใกล้กับหลุมฝังศพ และแนวอิฐก่อในแนวดิ่ง มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร หนาประมาณ 50 เซนติเมตร

จากการสัมภาษณ์พบว่า มีการอ้างถึงพื้นที่ฝังศพของชาวไทย ชาวจีน ชาวมุสลิม และชาวคริสต์ในพื้นที่ใกล้เคียงในอดีต จึงยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ฝังศพในศาสนาใดแน่

ขุดพบกระดูกมนุษย์ในพื้นที่ก่อสร้างสนามฟุตบอล

ขุดพบกระดูกมนุษย์ในพื้นที่ก่อสร้างสนามฟุตบอล

ขุดพบกระดูกมนุษย์ในพื้นที่ก่อสร้างสนามฟุตบอล

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้สั่งการให้นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช วิเคราะห์หลักฐานเพิ่มเติม และแจ้งเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้รับเหมาก่อสร้างว่า หากพบหลักฐานเพิ่มเติม ขอให้ระงับการดำเนินการไว้ชั่วคราว และแจ้งให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เข้าตรวจสอบพื้นที่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง พบ "โครงกระดูกมนุษย์โบราณ 3 ร่าง" สนามกีฬานครศรีธรรมราช 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง