7 ส.ค.ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ และทรงวางระบบแบบแผน ศาลยุติธรรม รวมถึงทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่ประเทศชาติ
พระประวัติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันพุธที่ 21 ต.ค.2417 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อเจริญวัยขึ้นทรงเป็น 1 ใน 4 พระราชโอรสกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อปี 2428 อันได้แก่
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
4 พระราชโอรสกลุ่มแรกในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อปี 2428
โดยพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เสด็จไปศึกษาที่กรุงเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ทรงศึกษาวิชาภาษาละติน วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาภาษาฝรั่งเศสอยู่ 2 ปี ต่อมาปี 2431 เสด็จไปศึกษาต่อในชั้นมัธยม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 2434 ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิร์ช ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จนกระทั่งปี 2437 ทรงสามารถสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม แล้วจึงเสด็จนิวัติประเทศไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพที่มีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงได้รับพระสมญาว่า เฉลียวฉลาดรพี
พระกรณียกิจ
หลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ประกอบพระกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวงการกฎหมายไทยและศาลสถิตยุติธรรม ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. ร.ศ. 115 หรือตรงกับ พ.ศ.2439
ในปี 2439-2453 ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และมีพระอิสสริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูปการศาล ซึ่งปัญหาสำคัญสำหรับศาลไทยในเวลานั้น คือ เรื่องของศาลกงสุลต่างชาติ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในยุคนั้น โดยเป็นที่รู้กันว่าชาวต่างชาติเหล่านั้นมีอำนาจอิทธิพลมาก เมื่อเกิดคดีความหรือข้อโต้แย้ง ชาวไทยมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะชาวต่างชาติมักจะอ้างว่ากฎหมายไทยยังล้าหลัง ไม่ทันสมัย เพื่อเป็นข้ออ้างเอาเปรียบชาวไทย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลของไทย ยังไม่พร้อมที่จะรับข้อกฎหมายใหม่ๆ ในเวลานั้น
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการจ้างชาวต่างชาติมาเป็นผู้พิพากษา เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลไทยเกิดความกระตือรือร้นเร่งศึกษากฎหมายไทยและต่างประเทศ ทำให้ศาลไทยมีความเชื่อถือมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ ถึงกับยกเลิกศาลกงสุล ยอมให้คนชาติตัวเองมาขึ้นศาลไทย นอกจากนั้น ยังทรงปฏิรูปการศาลในด้านอื่นอีกมากมาย อาทิ
- ขอพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตให้ศาลในสังกัดกระทรวงยุติธรรมสามารถกำหนดโทษเองได้ เนื่องจากในสมัยนั้นเมื่อศาลกำหนดโทษจำคุกผู้ต้องหาแล้ว ต้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดเวลาให้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุของความล่าช้าในวงการศาล
- ทรงปรับปรุงเงินเดือนผู้พิพากษาให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่
- ออกประกาศ ออกประกาศยกเลิก หรือแก้ไขพระราชบัญญัติ กฎเสนาบดีกว่า 60 ฉบับ เพื่อแก้ไขจุดที่บกพร่อง เพิ่มสิทธิของคู่ความให้เท่าเทียมกัน หรือแก้ไขบทลงโทษที่ล้าหลัง
- ให้อำนาจศาลเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
- ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่างๆ มากมาย
- ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา ซึ่งทำหน้าที่ศาลสูงสุดของประเทศ
- ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น เมื่อปี 2443 สำหรับตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือของหน่วยงานตำรวจในปัจจุบัน
ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมาย แหล่งผลิตนักกฎหมายไทย
ในปี 2440 พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น โดยมีเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลังยัคมินส์) เป็นที่ปรึกษา และพระองค์ทรงเข้าสอนเป็นประจำ ต่อมาได้จัดให้มีการสอบไล่ ผลปรากฏว่ามีผู้สอบผ่านเพียง 9 คนจากจำนวนกว่าร้อยคน และใน 14 ปีแรกก็มีผู้สอบผ่านเพียง 129 คนเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นการผลิตนักกฎหมายที่มีคุณภาพให้สังคมเป็นอย่างมาก ทรงได้รับสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ในเวลาถัดมา
โรงเรียนกฎหมายในสมัยสภานิติศึกษา พ.ศ.2469 ภาพ : เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์
ขณะที่พระองค์ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ทรงทุ่มเทให้กับงานราชการอย่างเต็มความสามารถ มิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระยามานวราชเสวี ผู้บังคับการโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม จึงทูลว่า "ไม่เคยเห็นใครทำงานมากอย่างใต้ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าพระบาทมีพระประสงค์อย่างไร" ทรงตอบว่า
รู้ไหมว่า My life is service ซึ่งหมายความว่า ชีวิตของฉันเกิดมาเพื่อรับใช้ประเทศชาติ
กระทั่งในปี 2462 พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประชวรด้วยพระโรคที่ต่อมลูกหมากและมีการแทรกซ้อนต่อไปยังพระวักกะ (ไต) จึงทรงขอลาพักราชการในวันที่ 24 ก.ค.2462 เพื่อรักษาพระองค์ แต่อาการยังไม่ทุเลา ต่อมาจึงเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่พระโรคที่พระวักกะก็ยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเกินที่แพทย์จะเยียวยาได้
จนกระทั่งถึงวันที่ 7 ส.ค.2463 เวลาประมาณ 21.00 น. จึงสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา 45 ปี 9 เดือน 17 วัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้เอกอัครราชทูตสยามประจำประเทศฝรั่งเศสจัดการถวายพระเพลิง ณ กรุงปารีส ตามที่ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ รับสั่งไว้ จากนั้นหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ เสด็จไปรับและอัญเชิญพระอัฐิของ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มาถึงประเทศไทยในวันที่ 1 ธ.ค.2463 ในคราวนั้นเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หวนระลึกถึงรับสั่งของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ตรัสไว้ก่อนที่เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศสว่า
บางทีครูจะไม่ได้เห็นฉันอีก และไม่ได้เห็นอีกจริง ๆ
ภายหลังสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (10 ก.ค.2478)
วันรพี
นักกฎหมายได้ถือเอาวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ คือวันที่ 7 ส.ค.ของทุกปี เป็น "วันรพี" เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ที่มีต่อวงการกฎหมายไทย โดยจะมีการจัดกิจกรรมวันรพีที่อนุสาวรีย์พระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าสำนักงานศาลยุติธรรม โดยมีการจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2507 ซึ่งมีการจัดสร้างโดยคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาเสร็จสิ้นในปี 2506
อนุสาวรีย์พระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าสำนักงานศาลยุติธรรม
อ่านข่าวอื่น :
ปลูกถ่ายข้อเข่าใหม่ด้วย "เนื้อเยื่อเอ็นจิงโจ้" คาดพร้อมทดลองจริงในปี 2024
ยานโอไซริส-เร็กซ์ ปรับวงโคจร เตรียมยิงตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยกลับโลก