"เสียงนกกรุงหัวจุกมันริก จ่อกกวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก จ่อก จ่อก กวิก กูลิติแกว็ด"
เสียงเด็ดอยากเป็นเจ้าของ ถ้าได้มาเลี้ยง ฟังเสียงที่หนำชายคลองเมื่อยามว้าเหว่ หม่นหมองฟังเสียงนกร้องชาย ผมบายใจ"
เสียงเพลงท่อนนี้ยังคงก้องติดอยู่ในหู หรือเรียกจนเป็นอาการ "Earworm" (เอียร์เวิร์ม) กำลังเป็นเทรนด์ฮิตในกลุ่มผู้ใช้แอปพลิเคชัน "TikTok" รวมถึงยังถูกใช้เป็นเสียงประกอบคลิป รวมทั้งเกิดท่าเต้น กางมือออก เหมือนกางปีกและสะบัดปลายมือ พยักหน้า กันอย่างสนุกสนาน ไม่เพียงคนเท่านั้น เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ศิลปิน ดารา เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยชรา ต่างยังแห่เต้นคัฟเวอร์กัน เรียกว่าทั้งร้องทั้งเต้นกันไปเลย ทำให้เป็นกระแสได้อย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้านี้ ยังเคยมีเพลง "เจน - นุ่น - โบว์" จากซุปเปอร์วาเลนไทน์ ซึ่งแต่งมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่มาดังในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามมาด้วยเพลง "ทรงอย่างแบด" ที่เป็นกระแสฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง วง Paper Planes ทำ 2 สมาชิก กลายเป็นหัวหน้าแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนม เพราะเพลงใช้เมโลดี้และจังหวะง่าย ๆ บวกกับวลีเด็ด ทำให้เพลงติดหู
อ่านข่าว : "ทรงอย่างแบด" ทำชีวิตพลิก "Paper Planes" กลายเป็นหัวหน้าแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนม
เช่นเดียวกับเพลง นกกรงหัวจุก ที่ขับร้องโดย นายควั่น ภูคา โดยคำร้อง - ทำนอง : นิธิภูมิ ณ คลองรำ / ควั่น ภูคา
เรียบเรียง ประยุทธ ยอดมณี ซึ่งแต่งไว้เมื่อ 12 ปีก่อน และกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในโลกโซเชียลมีเดีย ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ และเนื้อร้องทำนองที่ช่างเข้ากัน
นายควั่น ผู้ขับร้องเพลงนี้ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้ผ่านรายการ Apop Today ของช่องอมรินทร์ ว่า มาจากกิจกรรมสุดโปรดของคนภาคใต้อย่าง การแข่งขันนกกรงหัวจุก และตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบนกกรงหัวจุกมาก
กระทั่งครูเพลงของตนได้เกิดไอเดียในการนำมาแต่งเพลงและร่วมกันแต่งจนสำเร็จ ซึ่งเสียง "ริก ริก ริก" ในเพลงนั้น ก็คือ เสียงของนกกรงหัวจุกที่ร้องระหว่างการแข่งขัน
ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนทำให้เพลงนี้เป็นที่นิยมของนักฟังเพลง แถมมีท่าเต้นทำให้เกิดความสุขความบันเทิง ตนเองดีใจและขอขอบคุณทุกคนอีกครั้ง
จากกระแสของเพลงทำให้เจ้าของเพลง อย่างนายควั่น มีงานเข้าทั้งการไปขึ้นโชว์เสียงร้องในงานระดับจังหวัด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามคิดว่ากระแสของเพลงนี้จะทำให้คนได้หันมาสนใจ "นกกรงหัวจุก" ไม่แพ้เสียงเพลงเช่นกัน
รู้จัก "นกกรงหัวจุก"
พาไปรู้จัก "นกปรอดหัวโขน" หรือ ภาคใต้เรียกว่า "นกกรงหัวจุก" สำหรับรูปร่างลักษณะ "นกปรอดหัวโขน" เป็นนกขนาดเล็ก ปากสีดำเรียว ปลายปากโค้งเล็กน้อย หลังคอและด้านข้างคอมีสีดำ ใต้ตามีแถบสีแดง ซึ่งตัวเมียจะมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ ขนคลุมตัวด้านหลัง ขนคลุมหางสีน้ำตาล มีหงอนยาวสีดำตั้งชัน ขึ้นมาบริเวณหน้าผาก มองดูคล้ายคนที่สวมหัวโขน
แก้มสีขาว มีแถบดำล้อมด้านล่าง ค้าง ใต้คอ หน้าอกท้องสีขาว มีขนสั้นแข็ง บริเวณโคนปาก คอสั้น ลำตัวเพรียวปีกสั้น หางยาว ลำตัวด้านบน สีน้ำตาล ด้านล่างสีขาว ขนหางและปีกมีสีน้ำตาลแก้มดำ ขาสีน้ำตาลดำ เล็บสีดำ ขนคลุมใต้โคนหางสีส้มแดง ขนหางสีน้ำตาลดำ ปลายหางสีขาว
สิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงต้องรู้ คือ นกชนิดนี้ ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ใครครอบครองต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานฯ
อ่านข่าว : "นกปรอดหัวโขน" อยู่ที่ไหน?
นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered Bulbul) มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "นกปรอดหัวโขนเคราแดง" หรือที่กลุ่มผู้เลี้ยงนกในภาคใต้ เรียกว่า "นกกรงหัวจุก" ในภาคเหนือเรียกว่า "นกปิ๊ดจะลิว" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pycnonotus jocosus
เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกปรอด Pycnonotidae ซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด 109 ชนิด ในประเทศไทยพบ 36 ชนิด
พบกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเอเชียตะวันออก พบได้ในสภาพแวดล้อมตั้งแต่ยอดเขาสูง และตามป่าที่ราบต่ำ จนถึงทุ่งหญ้า ชายป่า และเขตที่ใกล้กับชุมนุม จากที่ราบไปจนถึงระดับความสูง 1,800 เมตร
นกปรอดหัวโขน เป็นนกที่มีอยู่ในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน พบได้บ่อยทางภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน โดยมีชื่อเรียกกันดังนี้
- ภาคเหนือ จะเรียกว่า "นกปิ๊ดจะลิว หรือ พิชหลิว" "นกปิ๊ดจะลิว"
- ภาคกลาง จะเรียกว่า "นกปรอดหัวโขน" หรือ "นกปรอดหัวจุก"
- ภาคใต้ เรียกว่า "นกกรงหัวจุก"
หลงเสียงร้องนก เสน่ห์การพัฒนาสายพันธุ์
นกปรอดหัวโขน ชอบส่งเสียงร้อง และมีเสียงที่ไพเราะ น้ำเสียงของแต่ละตัวแตกต่าง ซึ่งนกชนิดนี้นิยมเลี้ยงมากในพื้นที่ภาคใต้ มีการนำมาประกวดแข่งเสียงร้องซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้การเลี้ยงนกเขา
อีกทั้งนกตัวที่ชนะการประกวด มีรางวัลการันตี ทำให้ยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น เป็นที่ต้องการของคนที่ชื่นชอบ โดยราคานกที่ชนะรางวัล อาจมีมูลค่าตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท
ไม่เพียงการเลี้ยงเพื่อประชันเสียงร้อง ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกยังพัฒนาสายพันธุ์ เช่น สีเผือก สีเทา สีด่าง เกิดเป็น "นกกรงหัวจุกแฟนซี"
แม้กลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกแฟนซี ไม่แพร่หลายเท่ากับการเลี้ยงเพื่อประชันเสียงร้อง แต่ราคาต่อตัวของนกแฟนซี อาจสูงได้เช่นกันเพราะมีความเฉพาะและแตกต่าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งคณะทำงาน 1 ชุดปลดล็อก "นกกรงหัวจุก" แก้ระเบียบเอื้อคนเลี้ยง