วันนี้ (7 ส.ค.2566) องค์กรพันธมิตรโลกเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือ WABA : World Alliance for Breastfeeding Actions ได้กำหนดคำขวัญเพื่อรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกันใน “สัปดาห์นมแม่โลก 2566” วันที่ 1-7 ส.ค.ว่า Enabling Breastfedding Making a Difference for Working Parents หรือ “สานพลังสร้างสรรค์สังคมนมแม่เพื่อพ่อแม่ที่ต้องทำงาน”
โดยคำขวัญปีนี้มุ่งเน้นเรื่อง การช่วยให้แม่ยังคงให้นมแม่ได้ แม้ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงาน กระบวนการช่วยให้แม่ยังคงให้นมแม่ได้ มีหลายวิธีและตามบริบทของครอบครัว เช่น การเก็บนมแม่ไว้ให้ลูกที่บ้าน และฝากให้คนเลี้ยงเอาให้ลูก ถ้าไปที่ทำงานก็มีมุมนมแม่ เพื่อบีบเก็บนมเอากลับบ้าน
ในกรณีที่ไม่มีคนช่วยเลี้ยงที่ไว้ใจได้ ก็จำเป็นต้องมีสถานที่ช่วยรับเลี้ยง ในระหว่างแม่ไปทำงาน ที่สำคัญที่สุด และเป็นการช่วยแม่ยังคงให้นมแม่ได้ คือแม่ได้อยู่บ้าน การให้นมแม่และแม่เลี้ยงลูกเองในวัยทารกและเตาะแตะ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในการวางรากฐานสุขภาวะให้กับชีวิตเด็ก ระยะเวลาที่มูลนิธิเห็นว่า พอเหมาะกับสถานการณ์ เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน คืออนุญาตให้ลาคลอด 6 เดือน
ปัจจุบันพบว่า มีเพียงร้อยละ 10 ของประเทศทั่วโลก ที่ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในเรื่องของระยะเวลาของการลาคลอด ที่ยังคงได้รับค่าแรง รวมไปถึงสิทธิ์การลาคลอดสำหรับพ่อหรือสมาชิกในครอบครัว อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับสิทธิ์การลาคลอดและค่าแรง แต่หากขาดการสนับสนุนจากสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนได้สำเร็จ
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยมานานกว่า 20 ปี เพราะประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แจ่มชัดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะเรื่องภูมิคุ้มกัน จุลินทรีย์สุขภาพ IQ และความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในอ้อมกอดแม่ ฯลฯ
มูลนิธิฯ สนับสนุนให้เด็กไทยได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ไม่ต้องกินแม้แต่น้ำ และกินนมแม่ต่อเนื่อง ควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น โดยจะสนับสนุนให้มีการดูดนมแม่บนเตียงคลอด เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็ว และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยกันสอนแม่ให้นมเป็นก่อนออกจากโรงพยาบาล
ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2568 เด็กไทยร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ปัจจุบันกฎหมายให้แม่ลาคลอดได้เพียง 3 เดือน การสนับสนุนจากที่ทำงาน และกฎหมายการลาคลอดที่นานเพียงพอ
โดยยังคงได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน เป็นเป้าหมายสำคัญที่มูลนิธิฯ ร่วมกับกรมสวัสดิการแรงงานและภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนเรื่องมุมนมแม่ในสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกสามารถกินนมแม่ได้ถึง 6 เดือน
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่ป่วยบ่อย ทำให้การขาดงานของแม่ลดลง ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานของแม่ และเกิดประโยชน์ต่อนายจ้างเช่นกัน
ข้อมูลจากการสำรวจ สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย MICs 6 พ.ศ.2565 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน อยู่ที่เพียงร้อยละ 28.6 และยิ่งลดลงเมื่อครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน เมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลและสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของนานาประเทศที่พบว่า อุปสรรคสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือขาดการสนับสนุนจากสถานที่ทำงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมประโยคซึ้ง น่ารักเก็บไว้บอก "รักแม่"
หนุนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนถึง 6 เดือน หลังพบเด็กได้กินเพียง 28%