แนะบรรจุแผนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ
ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเสนอให้นำแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเชิงยุทธศาสตร์บรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นหลักในการดำเนินงานด้านภัยพิบัติ
ภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ เมื่อปี 2547 ทำให้ประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก และทวีปแอฟริกา ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติ จึงได้มีการประชุมเพื่อลดภัยพิบัติในระดับโลกขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น และมีมติให้มีการจัดทำมาตรการลดภัยพิบัติอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ขณะที่ประเทศไทยก็ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเชิงยุทธศาสตร์ ปี 2553-2562 เพื่อกำหนดทิศทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การป้องกันและลดผลกระทบ เช่น จะต้องมีการทบทวนกฎหมาย, มีการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน และทำแผนที่เสี่ยงภัย ต่อมาคือ ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อม จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของการเตือนภัย จัดทำแผนการป้องกันภัยทุกระดับ และมีการซักซ้อมแผน ถัดมาคือ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการฉุกเฉิน เช่น ต้องมีการตั้งศูนย์บริหารวิกฤตระดับชาติ, การพัฒนาศักยภาพของระบบการสื่อสารฉุกเฉิน และยุทธศาสตร์การจัดการหลังเกิดภัย ต้องมีการประเมินความเสียหายเบื้องต้น ความต้องการของผู้ประกันภัย และจัดทำแผนฟื้นฟู
นายสุวิทย์ ยอดมณี ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังเสนอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัยทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรจุเรื่องการจัดการภัยพิบัติเป็นภารกิจร่วมกันที่ทุกหน่วยงานจะต้องให้ความสำคัญ และช่วยกันป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต