วันนี้ (9 ส.ค.66) เนื่องในวันสากลชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก (International Day Of the World’s Indigenous People) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 9 ส.ค.
ภายใต้หัวข้อ วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 66 “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” เปิดพื้นที่ให้เยาวชนตัวแทนชนเผ่า ออกมาเล่าเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของตน และการหยิบยกปัญหาภายในพื้นที่ออกมาพูดคุยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต
สร้างงานในชุมชน ดึงคนรุ่นใหม่คืนถิ่น
นายสุชาติ มาเยอะ เยาวชนบ้านแม่จันใต้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า ชนเผ่าอาข่าอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองหนาว จึงเป็นพื้นที่สำหรับปลูกพื้นเมืองหนาวหลากหลายชนิด เช่น กาแฟ ชา บ๊วย ลูกพลัม ลูกพลับ
กาแฟเป็นพืชหลักที่ชาวอาข่านิยมเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดกาแฟที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งต้องขายให้พ่อค้าคนกลางทำให้เกิดคำถามว่า เมล็ดกาแฟรูปแบบนี้ จะสามารถขายได้เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่
ประกอบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เลือกที่จะย้ายออกไปจากพื้นที่ คนในพื้นที่ซึ่งรับรู้ถึงปัญหา จึงศึกษาวิธีการแปรรูปเมล็ดกาแฟ และนำกลับมาพัฒนาส่งผลให้คนในพื้นที่มีความรู้ มีอาชีพ และสามารถพัฒนาเมล็ดกาแฟธรรมดา ให้กลายเป็นแบรนด์กาแฟของชุมชนในที่สุด

สุชาติ มาเยอะ เยาวชนบ้านแม่จันใต้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
สุชาติ มาเยอะ เยาวชนบ้านแม่จันใต้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
เมื่อเศรษฐกิจภายในพื้นที่ดีขึ้น คนรุ่นใหม่ที่จากหมู่บ้านไป จึงตัดสินใจกลับมาอยู่อาศัยที่ถิ่นฐานเดิม เป็นกำลังสำคัญให้การช่วยคิดค้นและพัฒนาชุมชนให้เจริญเติบโตต่อไปมากขึ้น เกิดเป็นอุตสาหกรรมกาแฟ เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และทำให้แม่จันใต้ กลายมาเป็นชุมชนที่ส่งออกกาแฟอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าได้ การผลักดันการเรียน และเศรฐกิจภายในชุมชนชาวชนเผ่าให้เเข็งแรง เป็นส่วนช่วยสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
"ก้าวไกล" ผลักดัน ร่างกฎหมาย
ขณะที่ นายประหยัด เสือชูชีพ เยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กล่าวว่า การทำไร่หมุนเวียนเป็นสิ่งที่สำคัญต่อคนในชุมชนของตน เเละช่วยหล่อเลี้ยงให้คนในชุมชนมีอาชีพ แต่เนื่องจากข้อกฎหมายบางอย่าง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในพื้นที่ไว้ได้
การผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิต และส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อชุมชนคนชนเผ่าที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 40 ชนเผ่า หรือคิดเป็นประชากรกว่า 3 ล้านคน กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย ส่งเสริมให้พวกเขามีสิทธิ์เเละเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม

ประหยัด เสือชูชีพ เยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
ประหยัด เสือชูชีพ เยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
ขณะที่ ล่าสุด นายมานพ คีรีภูวดล สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ระบุว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในสมัยประชุมของสภาชุดก่อนหน้านี้ พรรคได้เสนอร่างกฎหมายและถูกตีความว่าเป็นร่างการเงิน ทำให้พรรคก้าวไกลได้แก้ไขปรับปรุงและเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาอีกครั้ง

อ่านข่าวอื่นๆ
ฉบับเต็ม! รัฐบาลสมานฉันท์เพื่อไทยจับมือ 6 พรรค "สลายขั้วการเมือง"
"วัดยานนาวา" วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เจดีย์ฐานสำเภาแห่งเดียวในไทย