วันนี้ (10 ส.ค.2566) องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ทั่วโลกจับตา เฝ้าติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ "EG.5.1" ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจชะลอแผนที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดโควิด-19 ทั้งหมด ย้อนกลับไปใช้มาตรการที่ใช้ในระหว่างการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยพบโอมิครอน "EG.5.1" หรือ "เอริส" เป็นสายพันธุ์หลักนำการระบาดอยู่ในขณะนี้ แล้วประเทศไทยควรกังวล หรือไม่
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำตอบเรื่องนี้กับไทยพีบีเอส ว่า สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันยังคงมีการเฝ้าระวังเพราะอาการต่าง ๆ ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ
องค์การอนามัยโลก รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายใหม่ในระยะเวลา 28 วัน โดยพบว่าสูงที่สุด คือ สาธารณรัฐเกาหลี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 593,023 คน (+60%) ผู้เสียชีวิต 199 คน (-3%) เมื่อเทียบกับ 28 วันก่อน
- บราซิล ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 48,548 คน (-37%) ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 769 คน (-27%)
- ออสเตรเลีย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 35,873 คน (-68%) ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 623 คน (+82%)
- สิงคโปร์ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 30,214 คน (-25%)
- นิวซีแลนด์ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,329 คน (-47%)
- สหพันธรัฐรัสเซีย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 336 คน (-35%)
- เปรู ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 218 คน (-13%)
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ชะลอแผนการผ่อนปรนข้อจำกัดโควิด-19 ทั้งหมดนี้มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19
เดิมรัฐบาลวางแผนจะปรับลดระดับโรคติดเชื้อโควิด -19 เป็นระดับต่ำสุด คือ ระดับ 4 จากระดับ 2 ในปัจจุบัน เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะปกติอย่างเต็มรูปแบบสำหรับระบบการแพทย์
การปรับเปลี่ยนไประดับ 4 หมายถึง การยกเลิกคำสั่งให้ใช้หน้ากากอนามัยที่ในโรงพยาบาลทั่วไปและสถานบริการที่มีความเสี่ยงสูงอื่น ๆ และรัฐบาลจะหยุดการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด
ในเกาหลีใต้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน มิ.ย. และคาดว่าตัวเลขรายวันจะสูงถึง 76,000 คน ในช่วงกลางเดือน ส.ค.
นอกจากนี้ จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ในเกาหลีใต้บนฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID ระหว่างวันที่ 15 ก.ค. - 7 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา พบว่าสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็น โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย EG.5.1 หรือ XBB.1.9.2.5.1 โดยพบถึง ร้อยละ 21
ไทยโควิดสายพันธุ์ EG.5.1 เพียง 8 คน
ขณะที่ประเทศไทยพบโอมิครอน EG.5.1 เพียง 8 คน และเมื่อวิเคราะห์ความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักเพียง 1% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จีโนมจนถึงปัจจุบัน สรุปได้ว่าเราควรตระหนัก แต่ไม่จำเป็นต้องตระหนกถึงการระบาดของ EG.5.1 ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ ถือเป็นสัญญาณเตือนในการเตรียมพร้อมรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยทางศูนย์จีโนมฯ จากเดิมได้ทิ้งช่วงไปได้กลับมาถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมจากสิ่งส่งตรวจจากผู้ติดเชื้อโควิดเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB โดยเฉพาะโอมิครอน EG.5.1
"เอริส" ชื่อไม่เป็นทางการ เรียกโอมิครอน EG.5.1
EG.5* คาดว่าจะกลายเป็นร่มใหญ่ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่กำลังจะแพร่ระบาดในอนาคต โดยศาสตราจารย์ ที. ไรอัน เกรกอรี่ ตั้งฉายา "EG.5.1" ว่า "เอริส" เทพีแห่งความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกันของกรีก ไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ
"เอริส" สืบเชื้อสายมาจากโอมิครอน EG.5 โดยมีลักษณะทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ XBB.1.9.2 โดยบริเวณหนามแหลมมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมตรงตำแหน่ง S:F456L
ขณะที่ เอริสมีการแพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อนหน้า
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา พบแพร่ระบาดเป็น 14.55% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นในอัตรา 20.51% ต่อสัปดาห์
ขณะที่ ในสหรัฐอเมริกา เป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจาก 11.9% เป็น 17.3% ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ส.ค. แซงหน้า XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
โควิดสายพันธุ์ "EG.5.1" รุนแรงแค่ไหน
ดูเหมือนจะไม่แสดงอาการของโควิด-19 ที่แตกต่างหรือรุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
มีผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12.1% (วันที่ 22 ก.ค.)
ความเสี่ยงจากการระบาดโควิดระลอกใหม่ยังคงอยู่ แม้ว่าความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ความนิยมการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK ที่บ้านเพิ่มขึ้น ทำให้การติดตามมีความแม่นยำน้อยลง อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ในซีกโลกเหนือระลอกใหม่ในช่วงปลายฤดูร้อน
ประชาชนควรระมัดระวังอย่างเหมาะสม เช่น ติดตามข่าวสารการฉีดวัคซีน รักษาสุขอนามัย สวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ และอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ "เอริส" บ่งชี้ถึงการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 และยังคงเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ ประชาชนควรตระหนักและระมัดระวัง โดยไม่ต้องตื่นตระหนก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยพบ 5 คน "โควิด" สายพันธุ์ EG.5.1 แนวโน้มทั่วโลกเพิ่ม 45%