ตั้งวอลรูมเกาะติดเอลนีโญกระทบข้าว
กระทรวงพาณิชย์ตั้งวอร์รูม เกาะติดผลกระทบจากเอลนีโญ ที่มีต่อสินค้าข้าว และพืชเกษตร ทั้งด้านผลผลิต การตลาด ราคา และทำแผนรับมือ ล่าสุดราคาข้าวเปลือกขยับแล้ว ข้าวเจ้าทะลุตันละ 12,000 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนข้าวถุงยังนิ่ง ย้ำต้องหาจุดสมดุล ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์เอลนีโญ ที่ก่อให้เกิดภาวะภัยแล้งต่อโลกและไทย และติดตามการผลิต การตลาด ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่น
ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคาและการตลาดของพืชเกษตรทุกตัว โดยเฉพาะสินค้าข้าว และรายงานผลให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศด้วย
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการประเมินผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ และกรณีอินเดียห้ามส่งออกข้าวข้าวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 ที่จะมีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ตลาดข้าว และราคาข้าว
ผลกระทบจากเอลนีโญ กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่า สถานการณ์เอลนีโญแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับอ่อน 0.5-1.0 ระดับปานกลาง 1.0-1.5 และระดับรุนแรง เกินกว่า 1.5 สำหรับไทย ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 0.8 ซึ่งช่วงที่มีสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงตอนปี 2559 อยู่ที่ระดับ 1.2
และกรมชลประทานรายงานว่าปีนี้ ปริมาณน้ำฝนของไทย จะลดลง 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี และปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้ คาดว่าจะน้อยกว่าปี 2565 ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลกระทบกับพืชผลการเกษตรที่อยู่ในเขตชนประทาน
“อินเดีย” ห้ามส่งออกข้าว-บีบให้ราคาลดลง
ส่วนผลกระทบจากกรณีประเทศอินเดีย ห้ามส่งออกข้าวขาว กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า มีสาเหตุจากรัฐบาลอินเดีย ต้องการให้ราคาข้าวในประเทศลดลง จึงระงับการส่งออก เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และมีความผันผวน
ยังไม่สามารถประเมินราคาได้อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นโอกาสในการส่งออกข้าวไปตลาดแอฟริกา ที่เดิมนำเข้าจากอินเดีย เกษตรกรจะขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น
เฉพาะข้าวเจ้า ราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 7 % สูงกว่าก่อนที่อินเดียจะห้ามส่งออก ส่วนอาหารสัตว์และปศุสัตว์ ต้นทุนจะสูงขึ้น รวมถึงราคาข้าวถุง ที่อาจได้รับผลกระทบ
ข้าวเปลือกหอมมะลิในไทยตันละ 12,000 บาท
สำหรับราคาข้าวเปลือกล่าสุด ณ วันที่ 4 ส.ค.2566 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,500-16,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 12,000-13,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,000-12,000 บาท เป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,500-14,700 บาท ราคาสูงกว่าประกันรายได้แล้ว
ส่วนราคาข้าวถุง กรมการค้าภายในรายงานว่า ข้าวหอมมะลิ ถุง 5 กิโลกรัม (กก.) เฉลี่ยปีที่แล้ว 209 บาท ขณะนี้ 210 บาท ข้าวขาว 100 % ปีที่แล้วเฉลี่ย 119 บาท ปีนี้ 118 บาท
สุจิตร สวัสดิ์เอื้อ ชาวนา ต.หนองพอก อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
ด้านผลผลิตข้าวเปลือก กรมการข้าว รายงานว่า ปี 2565 มีปริมาณ 34.3 ล้านตัน ปี 2566 คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณ 32.35 ล้านตัน ลดลงประมาณ 2 ล้านตัน หรือลดลง 5.6 % เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และต้องมีการประเมินสถานการณ์ต่อไป ทั้งระดับภัยแล้งจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และน้ำต้นทุน จะมีเพียงพอเพาะปลูกหรือไม่
เผยราคาข้าวเกี่ยวสดดันถึง 12,000 บาท
ทางด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้มีแนวโน้มเป็นปีทองของเกษตรกร เพราะขณะนี้ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ไม่เคยปรากฏ ไม่เคยเห็นมาก่อน
ส่วนราคาข้าวตลาดโลก เฉพาะข้าวขาว ขึ้นมาเป็น 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันแล้ว นับตั้งแต่อินเดียห้ามส่งออก แต่ก็ยังไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอินเดียจะเอายังไงต่อ จะห้ามนานหรือไม่ เพราะแม้จะห้าม ก็ยังเปิดช่องให้หลายประเทศซื้อได้ เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร
ร้อยเอ็ดเร่งส่งออก “หอมมะลิ” สหรัฐฯ หวั่นขาดตลาด
นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้ประกอบการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ตอนนี้ต้องเร่งสีข้าวหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ เพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วงนี้มีการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคต้องการซื้อข้าวกักตุน จากกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ climate change
รวมทั้งผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ ราคาข้าวเปลือกที่ซื้อจากชาวนาสูงถึงกิโลกรัมละ 27 บาท
คาดการณ์ว่าปีนี้จะเป็นปีทองของราคาข้าวไทย เป็นปีที่ส่งผลดีทั้งต่อชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก เพราะขณะนี้ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสดที่ภาคกลาง อยู่ที่ตันละ 12,000-13,000 บาท เป็นราคาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนราคาข้าวตลาดโลก ก็ปรับขึ้นนับตั้งแต่อินเดียห้ามส่งออกข้าว แต่หากอินเดียกลับส่งออกได้ตามปกติราคาข้าวก็จะปรับลดลง
“ข้าวไทย” คุณภาพดี สู้ได้ในตลาดโลก
ข้อมูลจากเครือข่ายผู้ประกอบการโรงสีข้าวในภาคอีสาน ยังชี้ให้เห็นว่า ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้เพราะคุณภาพ เพราะผลผลิตต่อไร่และการลดต้นทุนการผลิต ยังสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้ ไทยจึงต้องเน้นผลิตข้าวคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
สิ่งสำคัญคือเกษตรกรต้องปรับตัว วางแผนการทำนา ลดต้นทุนการผลิต วางแผนการใช้น้ำ หลายพื้นที่ชาวนาเริ่มขุดบ่อกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ชาวนาเองก็คาดหวังว่านโยบายของภาครัฐ จะสนับสนุนให้พวกเขาสามารถผลิตข้าวคุณภาพดีในช่วงที่ข้าวขึ้นราคา เพื่อให้อาชีพนี้สร้างรายได้ที่มั่นคง
สำหรับกระแสข่าวชาวนาภาคกลางขายข้าวได้ราคาดีในช่วงนี้ กำลังถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ และทำให้ชาวนาในภาคอีสานเองก็เริ่มมีความหวังว่า ผลผลิตข้าวนาปีที่เก็บเกี่ยวเดือนพ.ย.
ด้วยระยะเวลาอีก 4 เดือน ทำให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวในภาคอีสานประเมินว่า พอถึงตอนนั้น ราคาที่รับซื้ออาจไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก เพราะยังต้องติดตามผลผลิตข้าวของประเทศอินเดีย ซึ่งอาจกลับมาส่งออกได้ตามปกติ
ไพรัตน์ ปุริตัง ชาวนา จ.ขอนแก่น
ไพรัตน์ ปุริตัง ชาวนา อ.เมือง จ.ขอนแก่น สะท้อนถึงความยากลำบากในการทำนา ที่ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณฝน และควบคุมต้นทุนได้ ที่สำคัญคือยังไม่รู้ว่า ราคาที่จะขายได้ในอีก 4 เดือนข้างหน้า จะมากพอที่จะทำให้เขาไม่ขาดทุนหรือไม่
ที่นาแปลงนี้ 10 ไร่ เขาต้องหว่านถึง 2 รอบ เพราะรอบแรกฝนแล้งข้าวไม่งอก เฉพาะค่ารถไถ ก็ 6,000 บาทแล้ว ความหวังในตอนนี้คือ ขอให้ราคาข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายนไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท เพราะปีที่แล้วขายได้ 9 บาทเท่านั้น ส่วนข้าวที่ถูกน้ำท่วมก็ขายได้แค่กิโลกรัมละ 6 บาท เป็นการทำนาที่ขาดทุน
โรงสีอีสานระบุราคายังผันผวน-ปรับสูงขึ้น
ขณะที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวในภาคอีสาน ก็มองว่า สถานการณ์ราคาข้าวผันผวน ราคาข้าวเปลือกปรับสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30-40 กำลังส่งผลกระทบต่อโรงสี และผู้ส่งออก โดยเฉพาะโรงสีในภาคกลางที่มีการตกลงขายข้าวล่วงหน้า และไม่มีข้าวในสต๊อก ต้องรอรับซื้อข้าวจากชาวนาที่เกี่ยวช่วงนี้ จนเกิดการแย่งซื้อ
นายชัยกร ลีศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ซี.รุ่งเรืองการเกษตร จำกัด จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ปริมาณข้าวในประเทศที่มีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งจากปัญหาขาดแคลนน้ำเพาะปลูก สวนทางกับความต้องการข้าวของตลาดโลก หลังอินเดียประกาศงดส่งออกข้าวเพื่อกักเก็บไว้บริโภคภายในประเทศ ทำให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด
ชัยกร ลีศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บ.เค.ซี.รุ่งเรืองการเกษตร จำกัด จ.ขอนแก่น
แม้ว่าราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ชาวนาในภาคอีสานเริ่มมีความหวังว่า ผลผลิตข้าวนาปีที่เก็บเกี่ยวเดือน พ.ย. จะปรับสูงขึ้นเช่นกัน แต่ข้อมูลจากเครือข่ายผู้ประกอบการโรงสีภาคอีสาน ก็มองว่า ราคาข้าวในภาคกลางอาจสูงขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้เท่านั้น
ส่วนราคาข้าวนาปีของภาคอีสาน อาจต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง และอาจไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก หากผลผลิตข้าวอินเดียมีมากขึ้นและกลับมาส่งออกได้ตามปกติ แต่สิ่งสำคัญคือชาวนาต้องให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวคุณภาพ ไม่ปลอมปน
ชาวนาสู้อีกรอบหวังราคาข้าวขยับ
สุจิตร สวัสดิ์เอื้อ ชาวนา ใน ต.หนองพอก อ. ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เร่งสูบน้ำใส่นาข้าวหอมมะลิ ทั้งส่วนที่เป็นนาของเขาเอง และนาที่เช่าของเพื่อนบ้านมาเพื่อปลูกข้าวกว่า 70 ไร่ หลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดี ข้าวที่หว่านไว้เริ่มโต แต่บางส่วนก็ต้องนำกล้ามาปักดำเสริม เนื่องจากก่อนหน้านี้หว่านข้าวแล้ว แต่ไม่งอก ทำให้เขาต้องเสียเงินลงทุนทั้งหว่านและดำถึง 3 รอบ กว่าจะได้ข้าวอย่างที่เห็น
หลังมีกระแสข่าวว่า ชาวนาภาคกลางขายข้าวได้ราคาดี และมีแนวโน้มที่ราคาข้าวหอมมะลิภาคอีสาน ที่จะเก็บเกี่ยวในอีก 4 เดือนข้างหน้า ก็จะปรับสูงขึ้น เขาก็มีกำลังใจ ที่จะลงทุนทั้งสูบน้ำ และซื้อปุ๋ยเคมีมาหว่านเสริม
สุจิตร สวัสดิ์เอื้อ ชาวนา ต.หนองพอก อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
อย่างช่วงนี้ก็หว่านปุ๋ยยูเรีย ราคากระสอบละประมาณ 900 บาท เพื่อให้ข้าวเขียวและโตเร็ว เพราะอยากได้ผลผลิตปริมาณมาก ๆ ขายในช่วงข้าวราคาดี จะได้มีกำไร เพราะการทำนาใช้ต้นทุนสูงมาก นา 1 ไร่ใช้เงิน 3,000-5,000 บาท โดยเฉพาะหากต้องหว่านและดำหลายรอบ กว่าข้าวจะงอกงาม ต้นทุนสำคัญคือ ค่าน้ำมัน ใช้สูบน้ำ และค่าจ้างรถไถก็ปรับขึ้น อย่างค่าไถพร้อมคราดนาหว่าน ตอนนี้ไร่ละ 600 บาท
อ่านข่าวอื่นๆ
"พีระพันธ์ุ" กั๊กโหวตนายกฯ พรรคเพื่อไทย-ยันไม่ถูกทาบทาม
เบอร์แปลกอย่ารับ! เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ นศ.เรียกค่าไถ่
4 ปัจจัย ทำไม? ไฟป่าโหมกระหน่ำป่าร้อนชื้นบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย