ปัจจุบัน โรเวอร์คิวริออซิตี (Curiosity) กำลังปีนเขาเพื่อขึ้นไปยัง “Mount Sharp” ที่สูงกว่า 5 กิโลเมตร ในหลุมอุกกาบาตเกล (Gale) ระหว่างการปีนครั้งนี้เอง มันพบพอนทัวส์ (Pontours) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีดินแตกเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมเป็นจำนวนมาก คล้ายกับดินบนโลกที่แตกออกจากกันในยามแห้งแล้ง
พื้นที่ Pontours ถูกค้นพบไปครั้งแรกโดยคิวริออซิตีเองเมื่อปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่คิวริออซิตีขุดเจาะดินบริเวณนั้นมาศึกษา จากงานวิจัยล่าสุดของข้อมูลดังกล่าวพบว่าดินที่แตกออกเป็นหกเหลี่ยมเช่นดังภาพ อาจมาจากวัฏจักรฝนและความแห้งแล้งซ้ำ ๆ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ฤดูกาล”
นั่นหมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวบนดาวอังคารน่าจะเคยมีฝนแล้วแห้งแล้งแล้วมีฝนวนไปเป็นวัฏจักร จนเมื่อถึงจุดหนึ่ง ดาวอังคารกลายเป็นดาวทะเลทราย ไม่มีฝนอีกต่อไป ดินในบริเวณดังกล่าวจึงแตกออกและถูกรักษาไว้ในรูปแบบเช่นเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ให้เราได้เห็น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือทฤษฎีการเกิดของชีวิตที่สันนิษฐานว่า วัฏจักรฤดูกาลดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการเกิดชีวิต และวัฏจักรแบบเดียวกันก็เกิดขึ้นบนโลกและยังเกิดมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเหตุให้ชีวิตยังคงมีอยู่บนโลก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าหากวัฏจักรดังกล่าวสามารถอยู่ได้ยั่งยืนยาวนานเพียงพอบนดาวอังคาร อาจมีชีวิตเกิดขึ้นก็เป็นได้
ทั้งนี้ วัฏจักรดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยอีกนับไม่ถ้วนในการกำเนิดชีวิต การมีวัฏจักรดังกล่าวเกิดขึ้นในอดีต ไม่ได้หมายความว่ามีชีวิตเกิดขึ้นบนดาวอังคารมาก่อน แต่มันเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ที่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งบนดาวอังคาร เคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่มาก่อน
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech