ข้อมูลจากยานอินไซต์พบว่าอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคารกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ 1 วันบนดาวอังคารค่อย ๆ สั้นลง ต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่น โลก ซึ่งอัตราการหมุนรอบตัวเองกำลังลดลง ทำให้ 1 วันบนโลกยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ
ยานอินไซต์ (InSight) เป็นยานสำรวจภาคพื้นดินแบบลงจอด (Lander) บนดาวอังคาร ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลด้านธรณีวิทยาบนดาวอังคาร เริ่มการสำรวจเมื่อปี 2018 ปัจจุบันยานอินไซต์ถูกปลดระวางไปแล้วเมื่อปี 2022 จากการที่แผงโซลาร์เซลล์ของยานซึ่งใช้ผลิตพลังงานล้มเหลวจนยานไม่มีพลังงานมากเพียงพอสำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากยานอินไซต์นั้นมีมหาศาล แม้ยานจะถูกปลดระวางไปแล้ว แต่ข้อมูลที่เก็บมาตลอดการสำรวจยังไม่ได้ถูกวิเคราะห์จนหมด แต่ค่อย ๆ ถูกวิเคราะห์ย้อนหลังอย่างละเอียด จึงมีหลายหนที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบการสำรวจใหม่ ๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากยานที่ปลดระวางไปแล้ว
ในกรณีนี้ ข้อมูลชุดสุดท้ายที่ส่งมาก่อนที่ยานอินไซต์จะถูกปลดระวางเผยให้เห็นว่าอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคารกำลังเร่งขึ้นเรื่อย ๆ ที่ 4 มิลลิพิลิปดา ต่อปี อีกนัยหนึ่ง 1 วันบนดาวอังคารกำลังสั้นลง 1 มิลลิวินาที ทุก ๆ ปี
ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อย แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้สาเหตุว่าเหตุใดอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคารเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง มีหลายทฤษฎีที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ เช่น การหดขยายตัวของแผ่นเปลือกดาวอังคารที่มีผลต่อกฎการอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม (Conservation of Angular Momentum) ทำให้ความเร็วในการหมุนรอบตัวเองเพิ่มขึ้น คล้ายกับการที่นักเต้นบัลเลต์หมุนรอบตัวเองแล้วยื่นแขนออกมา จากนั้นค่อย ๆ เอาแขนกลับเข้าหาตัวเอง ความเร็วในการหมุนรอบตัวเองก็จะเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาโมเมนตัมเชิงมุมเอาไว้
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาข้อมูลต่อไปเพื่อยืนยันว่าทฤษฎีดังกล่าวเป็นจริง เพราะอาจมีหลายเหตุผลที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ นักวิทยาศาสตร์เพียงแค่จะต้องหาหลักฐานมาสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวมากพอจนทฤษฎีอื่นถูกปัดตกไป
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech