แม้จะมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือ "โฮมสเตย์" รอบเกาะยอไปแล้ว 19 หลัง แต่ปัจจุบันโฮมสเตย์ยังอยู่ระหว่างรื้อถอนของกรมเจ้าท่า โดยที่ผ่านมากว่า 5 ปี พบว่า มีจำนวนที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ในทะเลสาบสงขลา ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโฮมสเตย์ จ.สงขลา ต้องเร่งจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ที่พักรูปแบบโฮมสเตย์ในทะเลสาบสงขลา ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา
ร.ต.ท.โกวิทย์ รัชนียะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ บอกว่าที่ผ่านมา ทราบถึงปัญหามาโดยตลอด และทราบดีว่าการก่อสร้างโฮมสเตย์ในทะเลสงขลาผิดกฎหมาย แต่ในฐานะผู้นำท้องถิ่นและได้รับการคัดเลือกมาจากชาวบ้าน จึงได้พยายามร่างข้อเสนอ พ.ร.บ.ท้องถิ่น ด้วยการแก้ไขกฎหมายการบังคับใช้ รวมถึงการควบคุมไม่ให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมพร้อมกับออกกฎบังคับ ใช้โฮมสเตย์ให้เกิดความเป็นระเบียบ และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ต่อทะเลสาบสงขลา
ร.ต.ท.โกวิทย์ รัชนียะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ
ขณะที่ชมรมโฮมสเตย์เกาะยอ โดยนายวิชิต ยอดรัตน์ เปิดเผยว่า อยากจะขอให้คณะกรรมการแก้ปัญหาโฮมสเตย์ทบทวนมติดังกล่าว พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ และได้กู้เงินมาลงทุน หากรัฐรื้อถอน จะกระทบต่อรายได้และวิถีชุมชนด้านการท่องเที่ยว
กลุ่มผู้ประกอบการ โฮมสเตย์เกาะยอ จ.สงขลา
สำหรับสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ในทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะโฮมสเตย์ ปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 60 หลัง ที่ถูกพัฒนาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน จากขนำเลี้ยงปลามาสู่โฮมเสตย์ ในพื้นที่ ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา ซึ่งในขณะนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่สามารถสร้างรายได้เข้าสู้ชุมชนมากกว่า 3,000,000 บาท/เดือน
ที่พักรูปแบบโฮมสเตย์ในทะเลสาบสงขลา ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา
ข้อมูลยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโฮมสเตย์ในภาคใต้ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า โฮมสเตย์ในภาคใต้มีลักษณะเด่น เกี่ยวข้องกับบริบทพื้นที่ และ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรม และ การทำประมงชายฝั่ง ส่งผลต่อกิจกรรมที่มีรูปแบบเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ทะเล ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณี
มีจุดแข็งเกี่ยวกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี การปรับปรุงมาตรฐานโฮมสเตย์ ให้มีคุณภาพ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ และ มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แต่ทางด้านจุดด้อย ยังขาดการวางแผนทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ขาดความพร้อมในการร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม บุคลากรขาดทักษะการสื่อสารด้านภาษา การสื่อความหมาย และขาดงบประมาณสนับสนุนด้านการจัดการทรัพยากร สภาพแวดล้อมภายนอก
อ่านข่าวอื่น :
เปิดแถลงการณ์ฉบับเต็มจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง
ดีลจบ 11 พรรคตั้ง "รัฐบาลเพื่อไทย" 314 เสียง "เพื่อไทย" คุม 8 กระทรวง