สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เป็นสถานพยาบาลหลักของภาคเหนือที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต และพัฒนาการเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 18 ปี โดยภาวะออทิซึม คือ โรคที่ทางสถาบันให้การบำบัดฟื้นฟู สูงเป็นลำดับต้นๆ
สอดคล้องกับอุบัติการณ์ของโรคออทิสติกทั่วโลกในปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้น เฉพาะประเทศไทยมีความชุกของโรคประมาณ 6 คน ต่อประชากร 1,000 คน ประชากรเกิดใหม่ของไทยมีประมาณปีละ 6 แสนคน เด็กที่ป่วยโรคออทิสติกจึงมีประมาณ 3,600 คนต่อปี
พญ.ดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ รักษาการตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ระบุว่า สิ่งสำคัญในการรักษาโรคออทิสติก คือ การวินิจฉัยให้รวดเร็ว เพราะหากสามารถวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยออทิสติกได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ ในขณะที่สมองยังมีความยืดหยุ่น เมื่อได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
โดยหลังโควิด 19 คลี่คลาย ผู้ปกครองเริ่มนำเด็กออทิสติกเข้ารับการบำบัดเพิ่มมากขึ้น บางวันมีจำนวนกว่า 3-400 คน ขณะที่บุคลากรของสถาบันมีน้อย แพทย์มีเพียง 5-6 คน แต่ต้องดูทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพราะการบำบัดต้องใช้เวลายาวนาน และ ใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่มีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก
เด็กกลุ่มนี้จะต้องดูแลตั้งแต่เล็กจนโต มีการตรวจรักษาและประเมินด้วยเครื่องมือต่างๆ ในทุกระยะ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร่วม ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างสูง
ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์พยายามวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในกลุ่มเด็กเล็กให้เร็ว และ บำบัดฟื้นฟูอย่างเหมาะสม
ภาคประชาชนใน จ.เชียงใหม่ ก็ตั้งศูนย์บริการแก่ครอบครัวเด็กออทิสติก เพื่อช่วยเหลือประสานด้านการจ้างงานตามกฎหมายแรงงาน และ ให้การอบรมฝึกอาชีพ ถักมาคราเม่จากเส้นใยสีธรรมชาติ ผลิตเป็นสินค้าในนาม "ออจ๋า คราฟ" รวมทั้งเปิดร้านกาแฟ "ออจ๋าคาเฟ่" เป็นกิจการเพื่อสังคม ช่วยให้เด็กออทิสติกมีอาชีพ ควบคู่กับการพัฒนาการด้านร่างกายและสังคม
ผศ.ดวงพร อ่อนหวาน ประธานศูนย์บริการคนพิการออทิสติกจังหวัดเชียงใหม่เล่าว่า ผู้ป่วยออทิสติก เป็นคนพิเศษที่มีความบกพร่องทางด้านอารมณ์ และ การเข้าสังคม การทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้คนเหล่านี้พัฒนาตัวเองได้
จึงเป็นที่มาของการสร้างพื้นที่ให้ผู้ป่วยออทิสติกได้ฝึกอาชีพอิสระเพื่อสร้างรายได้ เพราะแม้ภาครัฐจะมีกฎมายส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ ผ่านพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยออทิสติก ยังไม่ได้รับโอกาสในการทำงานมากนัก และ ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ใดๆ ได้เอง
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การก้าวสู่สังคมสูงวัยของไทยอย่างสมบูรณ์ บุคคลออทิสติก ก็เป็นกลุ่มคนที่จะเป็นผู้สูงวัยในไม่ช้า ขณะที่คนที่ดูแลก็จะต้องจากไป แล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไร
สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทย ร่วมกับชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกในหลายจังหวัด จึงพยายามเสนอแนวคิดการก่อตั้ง "บ้านพิทักษ์" สำหรับผู้พิการออทิสติก ซึ่งไม่มีผู้ดูแล ได้ใช้เป็นที่อาศัย ร่วมฝึก และ ทำอาชีพอิสระ ดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจจะเป็นทางออกสำหรับกลุ่มคนออทิสติกสูงวัยในอนาคต
เขาไม่เหมือนความพิการประเภทอื่นๆ แต่เป็นความพิการที่ไม่สามารถดูแลตัวเองในเรื่องของการเข้าสังคม คำถามคือ สังคมจะช่วยเขาอย่างไร ภาครัฐจึงควรเข้ามาดูแล หรือ ให้ความสนใจกลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นคนพิเศษ ให้มากขึ้น