ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทคโนโลยี AR ช่วยขจัดความกลัว ลดความเครียดให้กับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด

Logo Thai PBS
เทคโนโลยี AR ช่วยขจัดความกลัว ลดความเครียดให้กับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยพบว่าการใช้ "เทคโนโลยี AR" เพื่ออธิบายกระบวนการผ่าตัดกับผู้ป่วย มีประสิทธิภาพที่ดีในการช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดได้

การบูรณาการเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบสภาพแวดล้อมจริง ๆ โดยอาศัยองค์ประกอบของการแสดงผลด้วยภาพแบบดิจิทัล เข้ากับการดูแลผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดกลายเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยในช่วงเวลาก่อนการผ่าตัดมักจะเกิดความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งการเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์โดยไม่คำนึงถึงความซับซ้อนทางอารมณ์ของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดมักจะทำให้เกิดอาการไม่สบายใจและวิตกกังวลจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลลัพธ์หลังผ่าตัด ความคาดหวังของกระบวนการผ่าตัด และความกังวลเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมในการผ่าตัด บรรยากาศที่ปลอดเชื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และขั้นตอนทางคลินิกของห้องผ่าตัดสามารถทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมปกติได้

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้มีการบูรณาการเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR) เข้ากับการดูแลก่อนการผ่าตัดจนกลายเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีศักยภาพในการบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ตามผลการวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยไมอามี (University of Miami)

การวิจัยนี้ทำการศึกษาผู้ป่วย 95 รายที่มีอายุเฉลี่ย 38 ปี ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับศัลยกรรมกระดูก และได้ทดสอบผลลัพธ์การใช้ AR ต่อการบรรเทาความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด โดยการทดลองนี้แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเข้ารับการผ่าตัดโดยได้รับคำแนะนำการผ่าตัดแบบเดิม และกลุ่มที่ 2 จะได้พบกับประสบการณ์ AR เป็นเวลา 3 นาที ด้วยชุดหูฟังที่ผสมผสานสภาพแวดล้อมในชีวิตจริงเข้ากับองค์ประกอบเสริมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผ่าตัด ซึ่งบรรยายโดยหัวหน้าศัลยแพทย์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เข้าใจขั้นตอนการผ่าตัดได้ง่ายขึ้นโดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกส่วนบุคคลและโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับความกลัวในสิ่งไม่รู้ ที่มักจะมาพร้อมกับการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอดการผ่าตัดของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการประเมินระดับความวิตกกังวล 4 ครั้ง แบ่งเป็น 2 ครั้ง ก่อนการผ่าตัด และ 2 ครั้ง หลังการผ่าตัด การทดลองนี้แสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความเครียดของผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับประสบการณ์ AR อย่างเห็นได้ชัดหลังจากการสำรวจทั้ง 4 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม การบรรเทาความเครียดของผู้ป่วยด้วยวิธีนี้ยังจำเป็นต้องมีการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงให้เทคโนโลยีนี้สามารถเข้ากับคนไข้เป็นรายบุคคลและสามารถขจัดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจเพื่อใช้ประโยชน์จาก AR ในการฝึกอบรมทางการแพทย์ไปจนถึงการบำบัดทางจิตวิทยาและส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยที่มากขึ้นต่อไป

ที่มาข้อมูล: newatlas, scimex, jamanetwork, techtimes
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง