วันนี้ (30 ส.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม พบว่า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอต่อที่ประชุมให้เปลี่ยนระเบียบวาระ โดยนำญัตติ ขอให้สภาฯพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูกบรรจุในเรื่องที่ค้างพิจารณาลำดับที่ 33 ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวาระอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในระเบียบวาระ
นายพริษฐ์ อภิปรายว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาฯ ต้องทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากที่สังคมถกเถึยงในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะใช้เวลาดำเนินการจากวันนี้จนถึงมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือ 2 ปี ซึ่งการเสนอคำถามประชามติเดียวกันที่หลายพรรคการเมืองเคยลงมติเห็นชอบแล้วในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา เมื่อ 3 พ.ย. 65 ดังนั้น การเสนอของตนเพื่อยืนยันหลักการของสภาฯ ที่เคยลงมติมาแล้วในรอบที่ผ่านมา
มีความจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยใช้เวทีของสภาฯ เพราะ ครม.ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะทำได้โดยเร็วหรือไม่ แม้จะระบุว่าจะทำเรื่องในนัดแรกที่มีการประชุม หรือ หาก ครม.ทำได้โดยเร็วต่อการจัดทำประชามติหรือไม่ อย่างไร บทบาทในสภาฯ ที่มีทุกพรรคต้องถกเถียงให้ตรงกัน ในคำถามประชามติที่ควรออกแบบให้ดี
ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าว มีผู้เห็นคัดค้านโดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายคัดค้าน เนื่องจากว่าเรื่องที่บรรจุในวาระพิจารณาลำดับก่อนหน้านั้นมีความสำคัญและเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาให้เกษตรกร เช่น ผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งตนเสนอและบรรจุไว้ในลำดับที่ 3 อย่างไรก็ดี การเลื่อนระเบียบวาระตนไม่ขัดข้อง หากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้นตนไม่เห็นด้วยและต้องการให้คงระเบียบวาระไว้เช่นเดิม
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายเพื่อหาทางออกว่า ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ทราบว่าจะมีการเสนอข้อหารือเพื่อปรึกษาปัญหาของประชาชนในประเด็นเรื่องสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ดังนั้นอาจใช้โอกาสเพื่อหารือถึงประเด็นกุ้งร่วมด้วยได้ หากนายอรรถกร รับปากว่าในวันพรุ่งนี้ ( 31ส.ค.) จะพิจารณาญัตติเรื่องคำถามประชามติ พรรคก้าวไกลพร้อมถอนญัตติของนายพริษฐ์เพื่อเปลี่ยนระเบียบวาระ
ขณะที่ นายอรรถกร ตอบโต้ว่าตนไม่สามารถให้คำสัญญาได้เพราะตัดสินใจเองไม่ได้ หากจะเปลี่ยนวาระจะต้องหารือกันส่วนจะสำเร็จหรือไม่ตนไม่รับรอง และขณะนี้มี สส.หลายคนที่ยื่นญัตติไว้ ดังนั้นอย่าแซงดีกว่า อย่างไรก็ดีมี สส.จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนนายอรรถกร และขอให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระ ทำให้ต้องใช้การลงมติตัดสิน
อย่างไรก็ดีแม้นายวันมูหะมัดนอร์ กดสัญญาณให้แสดงตนแล้ว แต่ยังมีการอภิปรายพาดพิงไป-มา ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งพรรคก้าวไกลย้ำว่า ได้เดินคุยกับพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติแล้วไม่มีใครขัดข้อง
ทั้งนี้ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ขอใช้สิทธิพาดพิงว่า “อีก 1-2สัปดาห์ ครม.จะมีการประชุมนัดแรกแล้ว ดังนั้นไม่อยากให้หารือซ้ำซาก อย่าพาดพิงพรรคเพื่อไทย พรรคท่านที่เป็นผู้เจริญแล้วจะทำอะไรก็ทำ แต่ขอนิมนต์อย่ามายุ่งกับเขา”
จากนั้นได้มีการลงมติ โดยผลการลงมติพบว่า เสียงข้างมาก 262 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระ ต่อ 143 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวตอนท้ายว่า ตนเห็นด้วยกับการเลื่อนหรือไม่เลื่อนระเบียบวาระ แต่ขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทำให้ไม่มีการหารือร่วมกัน ทั้งนี้การหารือในห้องประชุมถือว่าทำได้ แต่การใช้เวทีวิปจะทำให้ไม่เสียเวลาที่ประชุม
อ่านข่าว
"เพื่อไทย" รับเรื่อง "ไอลอว์" เสนอคำถามทำประชามติร่าง รธน.ฉบับใหม่