ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Kerbal Space Program เกมสุดจริงจังที่จะช่วยให้เราเข้าใจการสำรวจอวกาศ

Logo Thai PBS
Kerbal Space Program เกมสุดจริงจังที่จะช่วยให้เราเข้าใจการสำรวจอวกาศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จักเกมจำลองฟิสิกส์ วิศวกรรม และการสำรวจอวกาศที่เป็นที่พูดถึงกันในแวดวงอวกาศ Kerbal Space Program เกมที่พาให้เราเข้าใจกระบวนการคิด ปรัชญา ขั้นตอนการออกแบบ และดำเนินภารกิจ เพื่อขี่จรวดของเราซึ่งอาจจะระเบิดตั้งแต่ยังไม่ทันพ้นฐานปล่อย หรือสามารถลงจอดที่ดาว

ก่อนหน้านี้ Thai PBS Sci & Tech ได้นำเสนอเรื่องราวของเกม Cities Skyline ซึ่งเป็นแนวสร้างและวางแผนบริหารจัดการเมืองสุดจริงจังไปแล้ว วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับเกม Kerbal Space Program ที่คนมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า KSP ที่เป็นเกมจำลองภารกิจการสำรวจอวกาศ และการเดินทางในระบบสุริยะโดยอาศัยหลักฟิสิกส์ที่ค่อนข้างสมจริง และอาศัยการวางแผนที่ใกล้เคียงกับการออกแบบภารกิจสำรวจอวกาศจริง ๆ

Kerbal Space Program เป็นเกมที่จำลองว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตบนดาวอันห่างไกลที่ชื่อว่า Kerbin ซึ่งเปรียบเสมือนดาวโลกในระบบสุริยะของเรา ในระบบสุริยะของพวก Kerbal (เป็นชื่อเรียกของชาว Kebin) จะมีดาวเคราะห์ทั้งหมด 5 ดวง และดาวเคราะห์แคระอีก 2 ดวง พวก Kerbal เป็นสิ่งมีชีวิตขี้สงสัย และต้องการออกเดินทางสำรวจอวกาศ จึงก่อตั้งโครงการ Kerbal Space Program ขึ้นมา

เราในฐานะผู้เล่น จะต้องออกแบบยานอวกาศ จรวด หรือดาวเทียม เพื่อค่อย ๆ เพิ่มพูนความรู้แห่งอารยธรรมชาว Kerbal โดยเราอาจเลือกเล่นในโหมด Science ที่ค่อย ๆ ปลดล็อกชิ้นส่วนการออกแบบทางวิศวกรรม และความเข้าใจต่อดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะ หรือจะเลือกเล่นในโหมด Sandbox ที่ช่วยให้เราสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดและทรัพยากรที่มีอย่างไม่จำกัดในการสำรวจอวกาศได้

แม้จะบอกว่าทรัพยากรที่ให้มาอาจไม่จำกัด แต่นั่นไม่ใช่สำหรับเชื้อเพลิง เวลา และความเสี่ยงต่อความผิดพลาด เพราะเกมนี้ใช้หลักการฟิสิกส์ที่สมจริง ตั้งแต่ตัวจรวดบินขึ้น ไปจนถึงการเดินทางไปยังเทหวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ ผู้เล่นจะต้องอาศัยการคำนวณทางฟิสิกส์ (ที่มีเครื่องมือต่าง ๆ ในเกมคอยช่วยเหลือ) เช่น การโอนถ่ายวงโคจร การเร่งความเร็วเพื่อสร้างแรงหลุดพ้น หรือการบังคับตัวยานอวกาศให้ลงจอดบนพื้นผิวต่าง ๆ บนดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์บริวารที่อาจมีแรงโน้มถ่วงแตกต่างกันออกไป

การปล่อยจรวดอาจจะนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสำรวจอวกาศมากที่สุดก็ได้ เพราะถ้าเราปล่อยจรวดไม่เป็น ยานอวกาศของเราที่ออกแบบมาก็อาจไม่สามารถขึ้นสู่วงโคจรได้ ดังนั้นการปล่อยจรวดจึงต้องอาศัยความเข้าใจหลักฟิสิกส์ของการเอาชนะแรงโน้มถ่วงโลก การตีโค้งเพื่อให้สามารถเข้าสู่วงโคจรได้ และการออกแบบอัตราส่วนระหว่างน้ำหนักของตัวจรวด ปริมาตรของเชื้อเพลิง และน้ำหนักของสัมภาระบรรทุก (Payload) บนตัวจรวด

การออกแบบวงโคจรเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เราจะเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์อื่นได้อย่างไร ผู้เล่นจะต้องเรียนรู้การออกแบบวงโคจร อัตราความเร็วที่เปลี่ยนแปลงไป (Delta-V) และการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงตัวแปรด้านเวลา ที่ต่อให้เราเชื้อเพลิงเหลือเยอะ แต่ถ้าเครื่องยนต์จรวด ไม่สามารถแปรเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่มีให้กลายมาเป็นพลังงานจลน์เพื่อทำให้ยานอวกาศเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ได้ทันเวลา ก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรหรือลงจอดบนดาวเคราะห์เป้าหมายของเราได้

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เกมนี้พยายามจะสอนเราก็คือ กระบวนการคิดที่อ้างอิงจากหลักวิศวกรรมและการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า ผู้เล่นอาจจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเช่น เชื้อเพลิงไม่เพียงพอ แต่ต้องพานักบินอวกาศกลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งอาจจะนำมาสู่การต้องปรับเปลี่ยนวงโคจรหรือปรับภารกิจใหม่ (คล้ายกับกรณีของภารกิจ Apollo 13) หรือในการก่อสร้างสถานีอวกาศ ผู้เล่นอาจจะพลาดเปิดเครื่องยนต์ทิ้งเอาไว้จนวงโคจรของสถานีอวกาศเปลี่ยนแปลงไปมาก และต้องส่งยานอวกาศขึ้นไปส่งเชื้อเพลิงเพื่อปรับแก้วงโคจร ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดโดยผู้เล่นทั้งสิ้น ไม่ได้มีอุปสรรคใด ๆ ที่เกมสร้างขึ้นมาก่อกวนเลย ยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำที่บอกว่ามนุษย์เราสะเพร่าเพียงใด (และนี่เองก็เป็นอุปนิสัยของชาว Kerbin ตามเนื้อเรื่องของเกมด้วยเช่นกัน ที่มักจะซุ่มซ่ามและทำอะไรพังอยู่เสมอ ที่แท้จริงแล้วความซุ่มซ่ามของตัวละครเหล่านี้ ก็มาจากความสะเพร่าของผู้เล่นเอง)

Kerbal Space Program เป็นอีกหนึ่งเกมที่ได้รับการยกย่องจากคนในวงการอวกาศว่า ช่วยให้เราเข้าใจการสำรวจอวกาศ และยังมียูทูบเบอร์สายอวกาศที่จริงจังกับการเล่นเกม KSP นี้ เช่น สก็อต แมนลี ที่สร้างช่องยูทูบเพื่อสอน วิเคราะห์ และใช้เกม KSP ในการอธิบายหลักฟิสิกส์วงโคจร และภารกิจการสำรวจอวกาศต่าง ๆ จนมีผู้ติดตามมากถึง 1.6 ล้านคน

ที่มาภาพ: Private Division

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง