เมื่อวานนี้ นายเศรษฐาเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ว่าที่เลขาธิการนายกฯ และนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.สำนักนายกฯ เพื่อดูสถานที่และห้องทำงาน
หลังจากเข้าไปดูแล้ว กลับมีรายงานข่าวออกมาว่า นายเศรษฐาเตรียมจะปรับปรุงรังนกกระจอก 1 ที่อยู่ติดกับตึกนารีสโมสร ซึ่งเป็นห้องทำงานหลังแรกของสื่อมวลชน ประจำทำเนียบรัฐบาล มาหลายยุคหลายสมัย เพื่อเปลี่ยนเป็นห้องทำงาน
และจะใช้เป็นห้องประชุมกับบรรดารองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยให้สื่อมวลชนที่เคยปฏิบัติงานห้องนี้ ไปรวมกันที่ห้องปฏิบัติงาน 2-3 บริเวณประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล
หลังจากข่าวรู้ไปถึงหูของบรรดานักข่าวที่นั่น ก็เกิดปฏิกิริยาขึ้นทันที เพราะ “รังนกกระจอก 1” เป็นสถานทำงานแห่งแรกของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ปฏิบัติงานผ่านมามากกว่า 10 รัฐบาล เป็นสัญลักษณ์คู่กับทำเนียบรัฐบาล มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 15
“รังนกกระจอก1” ปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง โดยเมื่อสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ต่อเติมชายคาโดยรอบ เพื่อกันแดดและฝน
ต่อมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนหลังคา พื้นทางเดินให้สะดวก และสวยงามขึ้น อีกทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม มานั่งพักคอยได้
สำหรับ “รังนกกระจอก 1” มีมาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้ยังมีสื่อมวลชนไม่มากนัก จะมีศาลาพักคอย (เดิม) อยู่บริเวณประตู 8 ซึ่งปัจจุบันเป็นร้านกาแฟฝึกอาชีพผู้พิการ (60 plus)
โครงสร้างของรังนกกระจอกเดิม เป็นอาคารประกอบตึกบัญชาการ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตึกไทยคู่ฟ้า เป็นตึกทรงแปดเหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้อง เป็นแบบสมัยนิยมในขณะนั้น
เมื่อมีการสร้างตึกบัญชาการใหม่ จึงมีดำริให้ทำเป็นห้องพักของสื่อมวลชน และเพราะด้วยเสียงจ๊อกแจ๊กจอแจ ระหว่างการปฎิบัติงาน จึงได้รับขนานนามว่า “รังนกกระจอก”
ปัจจุบันรังนกกระจอกตั้งอยู่ติดกับตึกนารีสโมสร ซึ่งเป็นห้องแถลงข่าวของรัฐบาล โดยส่วนหนึ่งของตึกนารีสโมสร ได้ปรับปรุงห้องทำงานของทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นสถานที่ต้อนรับแขกของรองนายกรัฐมนตรี และห้องประชุมขนาดเล็ก สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามหลังจากมีข่าวการปรับปรุงในครั้งนี้ และจะย้ายผู้สื่อข่าวออกจากรังนกกระจอก ให้เป็นที่พูดคุยของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ได้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่สื่อมวลชน แต่บรรดาข้าราชการ รวมถึงนักการเมือง ต่างก็ไม่เห็นด้วย
เนื่องจากมีสถานที่ที่มีความพร้อมรองรับรองนายกฯ และคณะในการประชุม ทั้งบริเวณห้องประชุมชั้น 3 และชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 รวมถึงตึกภักดีบดินทร์ ด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า และที่ห้อง ภายในตึกนารีสโมสร ที่มีความกว้างขวางและพร้อมรองรับเพียงพออยู่แล้ว
เสียงสะท้อนในวันนี้ ล่วงไปถึงหูเศรษฐา ถึงกับต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ใช้คำว่ารื้อคงไม่ได้ ผมเพียงไปรับฟังว่า ใครอยู่ตรงไหน ที่นั่งสื่อมวลชนมีอยู่ 2-3 ที่ เราต้องการทำให้ดีขึ้น ใช้คำว่า ปรับปรุงดีกว่า เพื่อให้ฝ่ายบริหารเข้าถึงสื่อมวลชนมากขึ้น อาจเข้ามาปรับปรุงรูปแบบบางส่วนแต่ความเป็นอยู่จะต้องดีขึ้น แต่คงปรับไม่มาก “ต้องเข้าไปดูก่อน”
ผมไม่เคยใช้คำว่าจัดระเบียบ ใช้คำว่าไปดูความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ยืนยันว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องดีขึ้น เรื่องจัดระเบียบไม่เคยใช้คำนี้เลย ไม่ทราบว่าใครเป็นคนใช้
นายเศรษฐา ระบุว่า สบายใจได้ เพราะจะทำให้ดีขึ้น อยากทำให้สบายมากขึ้น รวมถึงการทำงานร่วมกับฝ่ายบริหาร การเข้าถึงประชาชนได้ ก็ต้องอาศัยสื่อมวลชน
เป็นการปรับปรุงเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การใช้คำว่ารื้อ อาจต้องระมัดระวัง ทำเพื่อให้ทุกคนสบายขึ้น เข้ากับบริบทการทำงาน เพื่อลดช่องว่างระวังฝ่ายบริหารกับประชาชน ทั้งนี้ได้เดินไปดูห้องทำงานสื่อมวลชนทั้งสองฝั่งแล้ว เข้าใจถึงเรื่องความแออัด เข้าใจถึงความยากลำบาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดช่อง “สุญญากาศ” ผู้นำฝ่ายค้าน ไม่จำเป็นต้องมี
"สุทิน" เตรียมให้คำตอบสัญญา "เรือดำน้ำจีน" หลังแถลงนโยบายรัฐบาล
"บุญสร้าง" เผย "สุทิน" เริ่มต้นดีรับฟังความเห็น "ผู้นำเหล่าทัพ-ผู้เกี่ยวข้อง"