การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ในวันที่ 5-7 ก.ย.นี้ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นการประชุมนัดสำคัญระดับภูมิภาค ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังตกอยู่ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองระหว่างประเทศ จนถูกมองว่าเป็นสนามประลองกำลังของชาติมหาอำนาจ
ประธานอาเซียนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ปีละ 2 ครั้งในช่วงต้นปีและปลายปี เพื่อหารือกันในหลายประเด็นครอบคลุมตั้งแต่การค้าไปจนถึงความมั่นคง โดยการประชุมสุดยอดอาเซียนในรอบปลายปีจะเปิดพื้นที่ให้ผู้นำจากสหรัฐฯ จีน และประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ได้เข้าร่วม ทำให้ต้องยกระดับการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นเป็นพิเศษ
ทหารและตำรวจอินโดนีเซีย ประจำการบริเวณพื้นที่ชั้นในของกรุงจาการ์ตา เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยกองทัพอินโดนีเซียได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 13,000 นายและเตรียมยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทั้งเรือรบและเครื่องบินขับไล่ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบตลอด 3 วัน
การนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปี 2566 ผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านแนวคิด "Asean Matters : Epicentrum of Growth"
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงจาการ์ตา วันที่ 4 ก.ย.2566
ขณะที่วันนี้ (4 ก.ย.2566) รัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิกหารือร่วมกัน เพื่อทบทวนฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อปูทางสู่การสร้างสันติภาพในเมียนมา หลังจากการแก้ปัญหาความไม่สงบยังไม่มีความคืบหน้า โดยความขัดแย้งในเมียนมายังเป็นโจทย์ท้าทายความเป็นเอกภาพของอาเซียน หลังจากชาติสมาชิกยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ส่วนการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในภูมิภาค เป็นอีกหนึ่งวาระที่น่าจับตามอง แม้ว่าผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเองก็ตาม โดยผู้แทนของสหรัฐฯ คือ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ในขณะที่ผู้แทนของจีน คือ หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี
สำหรับผู้แทนของไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ยังรอการยืนยัน เนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 5 ก.ย.นี้และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
การประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ถือเป็นบททดสอบสำคัญของอินโดนีเซียว่าจะสามารถผลักดันวาระสำคัญ ตั้งแต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาไปจนถึงการรักษาสมดุล ท่ามกลางการแข่งขันของสหรัฐฯ กับจีนได้หรือไม่
อ่านข่าวอื่นๆ