วันนี้ (5 ก.ย.2566) การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด Asean Matters: Epicentrum of Growth หรือ "อาเซียนเป็นศูนย์กลาง : สรรค์สร้างความเจริญ"
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ผู้นำอินโดนีเซีย เป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนแบบเต็มคณะ นอกจากวาระของการผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว อีกหนึ่งวาระสำคัญของการประชุมที่ยังต้องมีการหารือกันต่อไปคือวิกฤตเมียนมา
ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหารือเกี่ยวกับฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ การยุติความรุนแรง การเปิดการเจรจากับทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ทูตพิเศษอาเซียนจะเป็นตัวกลางในการเจรจา รัฐบาลทหารจะต้องเปิดทางให้อาเซียนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเปิดทางให้คณะผู้แทนพิเศษทั้งอาเซียนและต่างชาติเข้าพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาได้ โดยเก้าอี้ของเมียนมาถูกเว้นว่างไว้ ก่อนที่ประเด็นดังกล่าวจะถูกหยิบยกมาหารือกันในเวทีระดับผู้นำ หลังจากการสร้างสันติภาพในเมียนมาผ่านฉันทามติ 5 ข้อ ยังไม่มีความคืบหน้า
เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าอาเซียนจะสามารถช่วยสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญในภูมิภาคได้หรือไม่
ขณะที่เวทีการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน "ฮุน มาเนต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนใหม่ ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงวิกฤตเมียนมาว่า กัมพูชาต้องการที่จะเจรจาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมาให้บรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนและจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม สันติภาพและความเจริญในภูมิภาคและที่อื่นๆ บนโลก
ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
การประชุมสุดยอดในปีนี้ ฮุน มาเนต ถือเป็นดาวเด่นที่ต้องจับตามอง เพราะถือเป็นหนึ่งในผู้นำหน้าใหม่ของชาติสมาชิกอาเซียน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และยังเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดในบรรดา 10 ผู้นำชาติอาเซียนในปัจจุบัน
ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย เป็นผู้นำหน้าใหม่อีกคนของอาเซียน แต่ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย เนื่องจากในวันนี้ (5 ก.ย.) นายเศรษฐามีกำหนดนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดแทน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือที่ประชุมจะมีบทบาทในการช่วยแก้วิกฤตความขัดแย้งภายในเมียนมาที่ยืดเยื้อมานับ 2 ปีได้อย่างไร โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง