ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

30 เรื่องน่ารู้ "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย

ต่างประเทศ
8 ก.ย. 66
11:20
14,835
Logo Thai PBS
30 เรื่องน่ารู้ "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "นูซันตารา" ใน จ.กาลีมันตัน ทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว เมืองหลวงด้านการบริหารแห่งอินโดนีเซีย โจทย์ท้าทายการสร้างเมืองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย กับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

1. นูซันตารา (Nusantara) เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกของ จ.กาลีมันตัน เกาะบอร์เนียว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจาการ์ตา เมืองหลวงเก่า ห่างกันประมาณ 2,000 กิโลเมตร

2. เมืองหลวงปัจจุบันที่ตั้งอยู่บนเกาะชวาหรือจาการ์ตา จะเป็นเมืองหลวงด้านการเงินและศูนย์กลางแห่งการค้า ขณะที่เมืองหลวงใหม่จะเป็นศูนย์กลางแห่งการบริหารประเทศของอินโดนีเซีย

3. "นูซันตารา" แปลว่า "หมู่เกาะ" ในภาษาชวา ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับเลือกจากประธานาธิบดี โจโค วิโดโด จากรายชื่อเมืองใหม่กว่า 80 รายชื่อ เนื่องจากเป็นชื่อที่สะท้อนถึงภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียและมีความเป็นสากล

4. เมื่อเดือน ม.ค.2565 รัฐสภาอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมาย เปิดทางย้ายเมืองของอินโดนีเซีย จาก จาการ์ตา ไปยังป่าที่อยู่ใน จ.กาลีมันตัน ทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ซึ่งได้รับการเสนอครั้งแรกเมื่อปี 2562 พร้อมประกาศชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า "นูซันตารา"

5. "นูซันตารา" ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 562 ตารางกิโลเมตร ใน จ.กาลีมันตัน ตะวันออกบนเกาะกาลีมันตัน โครงการนี้ยังได้รับการจัดสรรที่ดินสำหรับขยายพื้นที่ในอนาคต รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,561 ตารางกิโลเมตร  

6. เกาะบอร์เนียวเป็นเกาะที่แชร์พื้นที่กันระหว่าง 3 ประเทศ อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - บรูไน

8. "นูซันตารา"  มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมาะสมตามข้อพิจารณาการเลือกเมืองหลวงของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยตั้งอยู่ห่างจากแนวภูเขาไฟและบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก ซึ่งปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด 

9. "นูซันตารา" ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 200 - 4,095 เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอนาคตจากสภาวะโลกร้อน

10. การย้ายเมืองหลวงครั้งนี้มีการประเมินมูลค่าโครงการทั้งหมดอาจสูงถึง 33,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

11. นูซันตารา จะบริหารโดยสำนักงานเมืองหลวงแห่งชาติ โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้บริหารมาทำหน้าที่สมัยละ 5 ปี มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุม ยกเว้นการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง งานยุติธรรม การเงิน การคลัง และศาสนา ซึ่งถือเป็นอำนาจของรัฐบาลอินโดนีเซีย (กรมเอเชียตะวันออก)

ภาพทำเนียบประธานาธิบดีในอนาคตของอินโดนีเซีย

ภาพทำเนียบประธานาธิบดีในอนาคตของอินโดนีเซีย

ภาพทำเนียบประธานาธิบดีในอนาคตของอินโดนีเซีย

12. นูซันตารา จะเป็นเขตปกครองพิเศษคล้ายกรุงจาการ์ตา ซึ่งจะปกครองโดยรัฐบาลพิเศษ และมีผู้บริหาร คือ "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เทียบเท่าระดับ "รัฐมนตรี"

13. รัฐบาลอินโดนีเซีย ผลักดันให้เมืองนูซันตารา เป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมทางด้านสุขภาพ สาธารณสุข และเทคโนโลยี ของภูมิภาค เป็นเมืองที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นสถานที่ ที่คนจากที่ต่าง ๆ ใกล้ชิดกัน

14. เมืองหลวงแห่งใหม่นี้ถูกออกแบบให้เหมาะกับการเดิน ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

15. บริษัทเอกชน "เออร์แบนพลัส (Urban+)" ถูกว่าจ้างให้ออกแบบสร้างเมืองหลวงใหม่ บนโจทย์ทำงานให้สอดคล้องกับสภาพของธรรมชาติที่เป็นอยู่ โดยไม่ต้องทำลายมัน สร้างเมืองที่มีความสมดุลกับธรรมชาติ

16. การสร้างศูนย์กลางการบริหาร ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

Sofian Sibarani สถาปนิก ที่ได้รับคัดเลือกให้ออกแบบนูซันตารา

Sofian Sibarani สถาปนิก ที่ได้รับคัดเลือกให้ออกแบบนูซันตารา

แผนย้ายเมือง - ตั้งเป้าปล่อยคาร์บอน "เป็นศูนย์" ในปี 68 

17. รัฐบาลอินโดนีเซียแบ่งการพัฒนาเมืองออกเป็น 5 ระยะ ระหว่างปี 2565 - 2588 ดังนี้

ระยะ 1 หลังจากที่กฎหมายผ่านแล้ว ระหว่างปี 2565 -2567 เป็นช่วงการก่อสร้างอาคารสถานที่และจัดทำแผนการย้ายส่วนราชการในภาพรวม

ระยะที่ 2 รัฐบาลอินโดนีเซียจะย้ายเจ้าหน้าที่ไปประจำที่ นูซันตารา ร้อยละ 20 ต่อปี โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะย้ายที่ทำการไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ในปี 2567

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาประชาชนจะเป็นหน่วยงานที่ต้องย้ายไปยัง นูซันตารา เป็นลำดับแรก

ระยะที่ 3 รัฐบาลจะพัฒนาเมือง สิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภค

ระยะที่ 4 รัฐบาลอินโดนีเซียจะพัฒนาความเชื่อมโยง (connectivity) ระหว่างกรุงนูซันตารากับพื้นที่ในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่านูซันตาราจะเป็นแหล่งรองรับการลงทุน และดึงดูดบุคคลผู้มีทักษะและความสามารถจากนานาชาติ

ระยะสุดท้าย คือ การตั้งเป้าหมายให้ นูซันตาราเป็นเมืองแห่งแรกของโลกที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน ที่บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ได้ในปี 2588

เขื่อนที่กำลังก่อสร้างเพื่อจ่ายน้ำให้กับเมืองนูซันตารา เมืองหลวงของอินโดนีเซียในอนาคต

เขื่อนที่กำลังก่อสร้างเพื่อจ่ายน้ำให้กับเมืองนูซันตารา เมืองหลวงของอินโดนีเซียในอนาคต

เขื่อนที่กำลังก่อสร้างเพื่อจ่ายน้ำให้กับเมืองนูซันตารา เมืองหลวงของอินโดนีเซียในอนาคต

ทำไมต้องย้ายเมืองหลวง

18. โจโก วิโดโด ประกาศถึงความจำเป็นที่ต้องย้ายเมืองหลวงว่า "จาการ์ตา รับภาระหนักเกินไปแล้ว ทั้งในฐานะศูนย์กลางการปกครอง ธุรกิจ การเงิน การค้า และบริการ"

19. รัฐบาลประเมินโครงการก่อสร้างเมืองหลวงด้านการบริหารแห่งใหม่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เนื่องจากกรุงจาการ์ตา ประสบปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และน้ำท่วมจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

20. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรุงจาการ์ตา มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ในพื้นที่ 600 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า พื้นที่ 1 ใน 3 ของเมืองหลวงอาจจมอยู่ใต้น้ำในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า

21. อินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะประมาณ 17,000 เกาะ แต่ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน 270 ล้านคนอาศัยอยู่บนเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดในโลก (dw)

22. โครงการเมกะโปรเจคบนเกาะกาลีมันตันเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิ่งแวดล้อม เนื่องกาลีมันตันเป็นแหล่งการทำเหมืองขนาดใหญ่ รวมถึงมีป่าฝน และการปลูกปาล์มน้ำมันได้คุกคามที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ สอดคล้องกับ นักวิชาการและชนพื้นเมือง มองว่า การย้ายเมืองหลวงครั้งนี้อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมบนเกาะบอร์เนียว

23. กาลีมันตันเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งบนโลกที่มี "อุรังอุตัง" อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งองค์กรพิทักษ์สัตว์ ระบุว่า ที่มีมากกว่า 1,000 ตัวบนเกาะบอร์เนียว

24. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิ BOSF ซึ่งดูแลงานด้านการอนุรักษ์อุรังอุตังบนเกาะบอร์เนียว ระบุว่า การย้ายเมืองหลวงมายังพื้นที่ใกล้ผืนป่า หากวางแผนไม่ดี และขาดการมีส่วนรวมจากประชาชน เมืองหลวงใหม่ก็อาจกลายเป็น จาการ์ตา 2 ซึ่งอาจเป็นการทำผิดซ้ำ แค่ย้ายปัญหามาไว้ในที่ใหม่เท่านั้น

25. รัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์ ในปี 2567 จะมีประชากรเข้ามาอาศัยในเมืองหลวงแห่งใหม่สูงถึง 60,000 คน และจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคนภายในปี 2583 และเพิ่มเป็น 4 ล้านคนภายในปี 2603 (nikkei) อัปเดต (2 ส.ค.66)

26. อินโดนีเซียไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการย้ายเมืองหลวง ก่อนหน้านี้ทั้งบราซิล ปากีสถาน และไนจีเรียก็เคยเปลี่ยนเมืองหลวง พร้อมวางแผนสร้างเมืองใหม่มาก่อน ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ทั้งการประกาศเอกราช การสร้างเมืองที่เป็นกลาง หรือด้วยปัจจัยด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง

กาลีมันตัน กับความหลากหลายทางชีวภาพ 

27. จ.กาลีมันตัน ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ของเกาะบอร์เนียว เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

 อินโดนีเซีย เป็นหมู่เกาะภูมิอากาศจึงมีลักษณะผสมผสานและเปลี่ยนแปลงไปตามภูมิประเทศ โดยทั่วไปมีอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตรแบ่งเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พ.ค. - ต.ค.) และฤดูฝน (พ.ย. - เม.ย.) เป็นประเทศที่มีป่าไม้มากที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ 

28. อินโดนีเซีย มีปริมาณถ่านหินสำรอง ที่คาดว่ามีมากถึง 58 พันล้านตัน และเป็นถ่านหินคุณภาพดี ซึ่งแหล่งถ่านหินใหญ่ ที่สุดอยู่ที่เกาะกาลีมันตัน

29. เกาะบอร์เนียว เป็นที่ตั้งของป่าแห่งสำคัญของโลก อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย แม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะให้คำมั่นว่า การสร้างเมืองหลวงใหม่ในครั้งนี้จะพยายามรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่นักอนุรักษ์ยังคงเกรงว่าโครงการ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบที่เสียหายร้ายแรงขึ้น 

30. นอกเหนือจากจากอุรังอุตังแล้ว ป่าหนาทึบของกาลิมันตันยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่น่าทึ่งอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ลิงจมูกยาว หมี ลิงแสมหางยาว ปลาอะโรวานา นกเงือก กวางคันซิล หมูป่า (indonesia.travel

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พนานคร" คอนเซปต์สร้าง "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย

4 ปัจจัย กับ 10 เมืองใหญ่ของโลกที่กำลังจมน้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง