"ลมสุริยะ" เป็นอนุภาคที่มีประจุวิ่งออกมาจากดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง คล้ายกับลม เมื่ออนุภาคเหล่านี้ชนกับอะไรก็ตาม มันจะถ่ายเทประจุให้กับวัตถุนั้น ๆ เมื่ออนุภาคเหล่านี้ชนกับสนามแม่เหล็กโลก ประจุที่ได้รับจากการชนก่อให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ-แสงใต้
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบกลไกการเกิดของลมสุริยะ แม้จะมีหลายทฤษฎีที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อ แต่ไม่มีทฤษฎีใดได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการดาราศาสตร์
ยานสำรวจลมสุริยะ โซลาร์ ออร์บิเตอร์
ข้อมูลภาพจากยานโซลาร์ ออร์บิเตอร์ เผยให้เห็นถึงลำเจ็ตที่พุ่งออกมาจากพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดวงอาทิตย์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ นักวิจัยทราบเพียงว่าการเกิดลมสุริยะนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ที่บางครั้งเส้นสนามแม่เหล็กเหล่านี้อาจไม่ได้แตะกับพื้นผิวของดวงอาทิตย์ แต่ยื่นยาวออกไปในอวกาศ ทำให้อนุภาคที่มีประจุบางส่วนวิ่งตามเส้นสนามแม่เหล็กดังกล่าวออกไปนอกอวกาศ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดอนุภาคจึงถูกยิงออกไปนอกอวกาศอย่างรุนแรงแทนที่จะค่อย ๆ ไหลไปตามเส้นแม่เหล็ก
การพบเห็นลำเจ็ตขนาดเล็กถูกยิงออกไปนอกอวกาศ เผยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าการเกิดการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ไม่จำเป็นต้องมีการไหลของอนุภาคที่มีเสถียรภาพก็ได้ และไม่ต้องมีพลังงานเยอะก็ได้ หมายความว่าแหล่งกำเนิดของลมสุริยะอาจจะเล็กมาก แต่เกิดบ่อย ต่างจากทฤษฎีเดิมที่ว่าลมสุริยะเกิดจากปรากฏการณ์บนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ และเกิดไม่บ่อยครั้ง เช่น การลุกจ้าขนาดใหญ่ซึ่งอาจทำให้เกิดพายุสุริยะได้
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: ESA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech