กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ต.ป่าหุ่ง และตำบลข้างเคียงอาทิ ต.เมืองพาน และต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย กว่า 10 หมู่บ้าน ประมาณ 150 คน พากันเดินทางมาปักหนักชุมนุม บริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงราย
เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดระงับ และมีคำสั่งยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง มีแผนดำเนินการโครงการก่อสร้างขึ้นในพื้นที่
โดยชาวบ้านได้จัดป้ายข้อความเรียกร้องขอความธรรรม และป้ายขอระงับโครงการ และข้อกังวลต่างมาชูแสดงสัญญาลักษณ์ไม่เห็นด้วยพร้อมตะโกนไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ อยู่ด้านหน้าศาลากลาง
น.ส.อรวรรณ บุญปั๋น กรรมการกลุ่มต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า ต.ป่าหุ่ง กล่าวว่า อบต.ป่าหุ่ง ได้ยื่นเรื่องเสนอจัดทำโครงการขึ้นที่บริเวณบ้านห้วยประสิทธิ์ หมู่ 12 ต.ป่าหุ่ง อ.พาน โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ทราบเรื่อง
เพิ่งจะมารู้ตอนที่ได้มีการซื้อที่ดิน เพื่อรองรับโครงการ 130 ไร่ ในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ที่จะได้รับผลกระทบไม่ทราบเรื่อง ไม่มีแจ้งข่าวสารอย่างทั่วถึง แต่มีการทำประชาคม ประชาสัมพันธ์ให้ทราบเพียง 336 คนเท่านั้น และทราบว่าขณะนี้เรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยแล้ว
น.ส.อรวรรณ กล่าวว่า พื้นที่รอบๆ บริเวณจุดก่อสร้างเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำนาทำไร่ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลานิลที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ
ชาวบ้านจึงเกรงว่า หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่จะต้องรองรับขยะจากเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง ก็จะทำให้พืชไร่ และวิถีชุมชนที่ชาวบ้านเคยดำรงชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ดังกล่าวยังมีคลองชลประทานไหลผ่านที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านหลายๆ หมู่บ้านด้วย
ตอนนี้ทางชาวบ้านอยากให้ทางจังหวัด โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งให้ยุติการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ทันที เพราะที่ผ่านมา เคยยื่นเรื่องไปยังหมู่บ้าน ทางอบต.ป่าหุ่ง ต่อทางอำเภอและทางบ้าน ส.ส.ในพื้นที่แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร ชาวบ้านก็เป็นกังวลเรื่องสุขภาพ สุขอนามัยและวิถีชีวิตของชุมชนในอนาคต จนถึงขณะนี้เรื่องก็ยังเงียบแม้จะผ่านมาถึง 2 เดือนแล้ว
ล่าสุด น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะฃเดินทางมาติดตามเรื่องปัญหาขยะของ จ.เชียงราย โดยมีทางนางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล โดยมีการเชิญทางส่วนของอำเภอพาน อบต.ป่าหุ่งและตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมให้ข้อมูลและหาทางออกร่วมกันด้วย
โดย อบต.ป่าหุ่ง ยอมรับว่า ดำเนินการเสนอเรื่องเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะจริง เนื่องจากปัจจุบัน อบต.ป่าหุ่งและพื้นที่ อ.พาน มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขยะล้นในอนาคต จึงพยายามที่จะหาแนวทางในการดำเนินการกำจัดขยะ
ซึ่งการเผาคือการกำจัดที่ดีที่สุด จึงจัดแผนทำเป็นโรงไฟฟ้าขยะ นอกจากจะเป็นการกำจัดขยะได้เพียงพอ หากทำถูกวิธีก็ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งยังได้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ ดีกว่าปัจจุบันที่การจำกัดขยะเพียงการเคลื่อนย้ายออกจากชุมชนไปอยู่นอกชุมชนเท่านั้นขยะก็ยังมีอยู่ ทดลองนำเตาเผาขยะขนาดเล็กมาใช้ก็ไม่เพียงพออีกทั้งยังเกิดมลพิษด้วย
ทั้งนี้การหารือใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงชาวบ้านก็ยังคงยืนยันที่ขอให้ทางจังหวัดมีคำสั่งให้ทางจังหวัดสั่งยุติโครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ตามหลังการประชุม น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนของจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางมารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มผู้ชุมนุม
พร้อมอธิบายถึงหลักการและขั้นตอนการยื่นขอทำโรงไฟฟ้าขยะจะต้องมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งตอนนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความเห็นของทาง อบต. และเรื่องถึงคณะกรรมสิ่งปฎิกูลขยะมูลฝอยของ จ.เชียงรายแล้ว
หลังจากนั้นหากผ่าน จึงจะต้องประมูลจัดซื้อจ้างทำสัญญาซื้อขายไฟ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายโรงงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานใบอนุญาตซื้อไฟ ซึ่งจะพิจารณาเป็นขั้นตอนไป จึงจะดำเนินการก่อสร้างได้
ซึ่้งทางอำเภอเองก็จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิด ด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ทำให้กลุ่มชาวบ้านยอมสลายตัวแต่ยืนยันที่จะคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะให้ถึงที่สุด