ทั้งการลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซล เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ซึ่งล่าสุด มติครม.ให้ความเห็นชอบตามนั้น โดยค่าไฟฟ้าให้เหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท เริ่มในรอบบิลเดือนกันยายนเป็นต้นไป ส่วนน้ำมันดีเซล ลดให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักและเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวไทย พร้อมนักท่องเที่ยวจากประเทศคาซัคสถาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.2566 ถึง 29 ก.พ.2567
ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มอบให้ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยใช้แนวทางของรัฐสภาหารือรูปแบบการแก้ไขและการทำประชามติ
เท่ากับมติ ครม.ที่ออกมา แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้เลย ยกเว้นประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญจากเดิมให้เดินหน้าตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ทันที กลายเป็นถอยหลังกลับไปตั้งกรรมการศึกษา และเสนอเรื่องตามขั้นตอนเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าที่คาดหมาย
สำหรับการลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 4.10 บาท ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอ และถกเถียงกัน ให้ลดค่าไฟฟ้าในอัตรานี้มาแล้วแต่มีเสียงคัดค้าน ตัวเลขจึงยังคงเป็นที่หน่วยละ 4.45 บาท
ประกอบกับปัญหาใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) คือเรื่องหนี้สิน หากรัฐเจรจากับ กฟผ. (ปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าเอฟทีให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) หากมีการขอชะลอคืนหนี้ดังกล่าวออกไปได้ จะช่วยให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.ถึงธ.ค.นี้ ลงมาอยู่ที่ 4.10-4.20 บาทต่อหน่วยได้
แต่หากชะลอหนี้ไม่ได้ รัฐต้องใช้งบประมาณเข้ามาอุดหนุนอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท จึงเป็นเงื่อนไขและปัจจัยประกอบสำคัญสำหรับลดค่าไฟฟ้าดังกล่าว
ส่วนเรื่องลดราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น ก่อนหน้านี้ ในการประชุมครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 14 มี.ค.2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2566 เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้น
จนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชนจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนจากสงครามยูเครน อยู่ก่อนแล้ว
ขณะที่ มติครม.ได้เห็นชอบปรับวิธีจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็นเดือนละ 2 ครั้ง เริ่ม 1 ม.ค.2567 เพื่อหวังบรรเทาทุกข์ของข้าราชการ ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องกู้ยืมเงินนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเพียงมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อข้าราชการเท่านั้น ไม่ได้มีมรรคผลใด ๆ ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
คนส่วนใหญ่ที่ทุกข์ร้อนเหล่านี้ ให้ความสำคัญและรอคอยความชัดเจนไปยังเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 1 หมื่นบาทมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และจะมีส่วนช่วยลดความเดือดร้อนในการครองชีพขณะนี้มากที่สุด
ตามมาด้วยเรื่องพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ที่แม้จะมีมาตรการออกมาในวันนี้ แต่ยังต้องรอคอยรายละเอียดในทางปฏิบัติอยู่ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท (และเพิ่มเป็น 600 บาทในปี 70) และมาตรการช่วยเหลือเรื่องพืชผลการเกษตร ในลำดับถัดๆไป รวมทั้งเงินเดือนลูกหลานที่เรียนจบปริญญาตรี เดือนละ 25,000 บาท ให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ
การออกมาตรการแบบปฐมบทในการประชุมครม.นัดแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ที่ผู้คนเฝ้ารอคอย จึงเป็นจุดเริ่มต้น และมีทั้งสมหวัง ไม่สมหวัง ถูกใจ ไม่ถูกใจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา