แม้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บอกถึงแนวทางการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ซึ่งสร้างกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ข้ามคืน โดยยืนยันในการมอบนโยบายที่กระทรวงการคลังโดยยืนยันว่าต้องการเปิดทางให้ข้าราชการ แต่ละคนเลือกแนวทางการจ่ายเงินเดือน ทั้งเฉพาะต้นเดือน หรือจ่ายกลางเดือน ตามความจำเป็นของแต่ละคน
ยังยืนยันการจ่ายเงินข้าราชการ 2 รอบเป็นทางเลือกแล้วแต่ข้าราชการ ซึ่งกรมบัญชีกลางไม่ติดขัดอะไร อาจต้องแก้ซอฟแวร์ ส่วนกรอบเวลาคาดว่าต้นปีหน้า ขอดูรายละเอียด
อ่านข่าว นายกฯ ยืนยัน "แค่ทางเลือก" ไม่บังคับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวด
ทั้งนี้นายเศรษฐา ย้ำว่า ปัจจุบันเงินเดือนจ่ายเดือนละหนเดียว การแบ่งจ่าย 2 รอบแบ่ง และช่วยแบ่งภาระให้กับที่มีหนี้สินจ่ายคืนเร็วได้ และไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสด เรื่องนี้ยังมีแต่ เสมอตัวกับดีขึ้น และเข้าใจว่าการเสนอทางเลือกใหม่มีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ แต่รัฐบาลคำนึงถึงทุกมิติในการออกนโยบายนี้
อยากได้เงินเดือนเพิ่ม-วอนทบทวน
แต่สำหรับความเห็นของข้าราชการ ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจความเห็นของข้าราชการตั้งแต่คนรุ่นใหม่ และบางคนมีอายุงานมากกว่า 30 ปีส่วนใหญ่ยังมีข้อกังวล และไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
อยากให้จ่ายเงินเดือนตามระยะเวลาเหมือนเดิม ไม่อยากได้เป็น 2 งวด เพราะทางบ้านก็มีภาระที่ต้องใช้จ่าย ไหนจะค่ารถ ไหนจะค่าบ้าน อยากได้เงินเดือนเหมือนเดิม
ถ้าจะให้เงินเดือนเป็น 2 งวด อยากได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า ฝากถึงท่านนายพิจารณาเรื่องนี้อีกรอบ
ส่วนข้าราชการเพิ่งบรรจุใหม่ สะท้อนว่า จากนโยบายการแบ่งจ่ายเงินเดือนค่าราชการเป็น 2 งวด ก็รอดูว่ารายละเอียดโครงการจะให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้สินอย่างไร ถ้าแบ่งเป็น 2 งวดก็กลัวจะกระทบกับเงินที่จะนำไปชำระหนี้ ที่ไม่รู้ว่าจะมีการแบ่งชำระหนี้เป็น 2 งวดตามการแบ่งจ่ายเงินเดือนหรือไม่ ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีนโยบายการแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
เราได้รับเงินเดือนแบบงวดเดียวมาตลอด ถ้าจะไปเปลี่ยนเป็นแบบเอกชนที่แบ่งจ่ายเงินเป็น 2 งวด มันค่อนข้างยาก กังวลว่าถ้าเปลี่ยนเป็นรับเงินเดือนแบบ 2 งวด แล้วชำระหนี้แบบงวดเดียวมันค่อนข้างหนักหน่วง รอฟังเหตุผลและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะแก้ไขปัญหานี้
อ่านข่าว เริ่ม 1 ม.ค.67 ปรับวิธีจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบ
เช่นเดียวกับความเห็นของข้าราชการอีกคน ตั้งคำถามว่า แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบ แล้วแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 2 รอบด้วยหรือเปล่า เพราะพวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค ค่าโทรศัพท์ก็ต้องจ่ายเต็มทุกเดือน เพราะถ้าได้เงินเดือนมาครึ่งเดียว แล้วต้องใช้จ่ายไปหมด จะรอกินตอนครึ่งเดือนหลังหรือ เลยมีคำถามกลับไปว่าถ้าจะแบ่งครึ่ง ต้องแบ่งครึ่งทั้งระบบ
ไม่ค่อยเห็นด้วย การเงินก็มีปัญหา เพราะคนที่มีรายจ่ายตอนสิ้นเดือนก็มีเงินไม่พอจ่าย
อ่านข่าว เปิด "เงินเดือนข้าราชการ" หลัง ครม. ปรับวิธีจ่ายเดือนละ 2 รอบ
เพิ่มหนี้นอกระบบ-หมุนไม่ทัน
ขณะที่ข้าราชการวัยกว่า 40 ปีรายนี้ บอกว่า ไม่เห็นด้วย แม้ตัวเองจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับบางคนที่บริหารจัดการเงินไม่เป็น มันจะมีปัญหาตรงที่ว่าภาระหนี้สินส่วนใหญ่จะมาสิ้นเดือนหรือไม่ก็ต้นเดือน ถ้าคนที่บริหารจัดการเงินงวดแรกไม่ได้ ใช้ไปจนหมด พอถึงสิ้นเดือนที่ต้องจ่ายภาระหนี้สิน เขาจะที่เงินพอสำหรับการชำระหนี้สินตรงนั้น เพราะค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่ได้แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด
ถ้าคนบริหารจัดการเงินไม่เป็นจะตาย คือเงินไม่พอ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือนอกระบบ เพื่อมาบริหารจัดการเงินตรงนี้
อ่านข่าว ข้าราชการโอด! เงินเดือนแบ่งจ่าย 2 รอบ สวนทางรายจ่ายจริง
เขาบอกว่า แต่ถ้าจะทำจริง ๆ คือต้องจัดการทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบการหักหนี้สิน การแบ่งจ่าย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หนี้สิ้นที่ต้องหักผ่านเงินเดือน ดังนั้นถ้าจะทำให้ได้ต้องไปศึกษาให้ดีก่อนว่าสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะทำตามนโยบายนี้หรือเปล่า เพราะคือปัญหา
สำหรับคนที่บริหารจัดการเงินได้ เขาไม่มีปัญหา ทำงานข้าราชการระดับชำนาญการมา 33 ปี เข้าปีที่ 34 แรกๆ ก็มีปัญหา เพราะบริหารจัดการเงินไม่เป็น แต่พอเราเริ่มบริหารจัดการเงินเป็น ก็ไม่มีปัญหาพวกนี้ ถึงแม้จะมีหนี้สินแต่เราบริหารจัดการได้ แต่ถ้าคนที่บริหารจัดการไม่ได้ ก็จะมีปัญหามาก ๆ ก็จะเข้าแบบเดิม ที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเหมือนเดิม
ขณะที่ข้าราชการ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ถามว่า
ขอตั้งคำถามว่า ก่อนที่จะออกนโยบายดังกล่าว ได้มีการศึกษาข้อดี-ข้อเสียหรือไม่ หรือ การแบ่งเงินเดือนออกเป็น 2 งวด ส่งผลดีกว่าจ่ายเงินเดือน 1 งวดอย่างไร
ข้าราชการคนดังกล่าวระบุว่า นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตนพอสมควร เนื่องจากมีภาระที่ต้องจ่ายทุกสิ้นเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซึ่งเดิม เมื่อได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนทั้งหมด ก็สามารถจ่ายหนี้ทั้งหมดได้ โดยที่มีเงินส่วนที่เหลือในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเลี้ยงดูครอบครัวได้
นอกเหนือจากเงินที่ต้องจ่ายทุกเดือนข้างต้นแล้ว ยังมี “เงินหักหน้าซอง” ที่ถูกหักไปก่อนเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ หรือ เงินกองทุนฌาปนกิจ ทำให้เงินเดือนครึ่งหนึ่งในงวดแรก ถูกใช้ไปในการจ่ายภาระหนี้ต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เหลือเงินน้อยมาก
สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และอื่น ๆ ซึ่งระหว่างงวดอาจทำให้นำไปสู่การกู้ยืมเงินเนื่องจากมีเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายได้
รวมถึงการดำเนินการด้านธุรกรรม เช่น การวางฎีกาเงินเดือนที่ปกติสำนักงานต่าง ๆ จะทำเดือนละ 1 ครั้ง หากปรับเพิ่มเป็นเดือนละ 2 ครั้ง ก็จะเป็นการเพิ่มภาระงานและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการติดต่อเพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมกับเอกชน เช่น ธนาคารที่ต้องผ่อนชำระค่าหนี้รถหรือบ้าน บัตรเครดิต รวมถึงค่าโทรศัพท์ ที่มีเรื่องของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มในกรณีที่ผิดนัดชำระนี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ทางผู้ออกนโยบายได้คำนึงถึงส่วนดังกล่าวหรือไม่
ไม่ทราบเหตุผลว่า ต้องการสร้างวินัยการเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเหตุผลด้านวินัยการเงิน การคลังของรัฐบาล เพราะกรณีนี้จะกระทบกับ ผู้ที่มีภาระหนี้มากหรือใช้จ่ายเดือนชนเดือน ไม่มีเงินสำรอง ที่จะได้รับผลกระทบมาก ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่พูดคุยกับเพื่อนร่วมสำนักงานไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้
อ่านข่าว
ครม.นัดแรก เคาะ "ลดค่าไฟ-น้ำมัน" ปรับจ่ายเงินเดือน ขรก.เป็น 2 รอบ
ว้าวุ่นเลย! เงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ใครคิดเพื่อใคร
จับกระแสการเมือง : 14 ก.ย.66 แบ่งจ่ายเงินเดือน ขรก. 2 งวด ประเด็นร้อนในแวดวงสีกากี